(๓) ความแตกต่างในเรื่องความหมายของคำ๔
เรื่องความหมายของคำอาจจะแบ่งออกได้เป็น ๒ เรื่อง คือ
(๑) คำเดียวกันที่ใช้ในความหมายต่างกัน
(๒) ความหมายเดียวกันแต่ใช้กันคนละคำ
(๑) คำเดียวกันที่ใช้ในความหมายต่างกัน
ความแตกต่างในเรื่องนี้อาจจะแบ่งออกได้เป็น ๒ หัวข้อ คือ
ก. คำคำเดียวกันในถิ่นหนึ่งอาจจะใช้ในความหมายที่กว้างกว่าอีกถิ่นหนึ่ง
ข. คำคำเดียวกันใช้ในภาษาคนละถิ่นมีความหมายคนละอย่าง
(๑ก) คำคำเดียวกันในถิ่นหนึ่งใช้ในความหมายกว้างกว่าอีกถิ่นหนึ่ง
ตัวอย่าง น้ำผึ้ง ในกรุงเทพฯ หมายถึงน้ำหวานที่ได้รับจากตัวผึ้งเท่านั้น ส่วนในสงขลาหมายถึง น้ำตาล อีกด้วย เช่น
น้ำตาลทราย (ก.ท.) - น้ำผึ้งทราย (ส.ข.)
น้ำตาลโตนด - น้ำผึ้งโหนด
น้ำตาลกรวด - น้ำผึ้งกลวด
ตำ ในกรุงเทพฯ หมายถึง โขลก อย่างเดียว ส่วนในอุบลฯ ยังหมายถึง ชน เช่น รถตำกัน หมายถึง รถชนกัน
(๑ข) คำคำเดียวกันใช้ในภาษาคนละถิ่นมีความหมายคนละอย่าง
ตัวอย่าง ข้องใจ ในกรุงเทพฯ หมายถึง ติดใจสงสัย แต่ในสงขลาหมายถึงเป็นห่วงและคิดถึง เช่น
ข้องใจลูกจังป่านนี้แล้วยังไม่กลับ หมายถึง เป็นห่วงว่าจะเป็นอันตราย หรือ เกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ได้ติดใจสงสัยความประพฤติของลูก ข้องใจบ้านไม่มีคนอยู่ หมายถึง เป็นห่วงบ้าน