เกณฑ์ในการพิจารณาว่าเป็นภาษาถิ่นของภาษาเดียวกันหรือเป็นคนละภาษา
ในบางกรณีเราจะแบ่งให้เด็ดขาดไปเลยว่าเป็นภาษาถิ่นของภาษาเดียวกัน หรือเป็นคนละภาษาไปเลยไม่ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ว่าเราจะยึดเกณฑ์อะไรมาพิจารณาตัดสิน ในเรื่องนี้มีเกณฑ์ที่สำคัญอยู่ ๓ ข้อ ซึ่งอาจจะนำมาพิจารณาคือ
๑. เกณฑ์ด้านภาษา คือ การพูดกันรู้เรื่อง เมื่อให้คน ๒ คนซึ่งต่างก็พูดภาษาของตนมาคุยกัน และสามารถพูดคุยกันรู้เรื่อง ในแง่ภาษาถือว่า ๒ ภาษานี้เป็นภาษาถิ่นของภาษาเดียวกัน แต่ถ้าใช้พูดคุยกันไม่รู้เรื่องก็ต้องถือว่าเป็นคนละภาษา เช่น คนไทยภาคต่าง ๆ สามารถสื่อสารกันด้วยภาษาถิ่นของตนได้ เป็นที่เข้าใจกันได้ดีพอสมควร เราก็ถือว่าภาษาที่พูดใน
ภาคต่าง ๆ ของเมืองไทยเป็นภาษาถิ่นของไทยด้วยกัน แต่ถ้าให้คนไทยกับคนจีนสื่อภาษากันโดยต่างคนต่างใช้ภาษาของตนเองก็ไม่สามารถจะเข้าใจกันได้ เราจึงไม่ถือว่าภาษาไทยกับภาษาจีนเป็นภาษาถิ่นของไทยหรือของจีน แต่ถือว่าเป็นคนละภาษาไปเลย
คนไทยกับคนลาวก็เช่นเดียวกันสามารถพูดกันรู้เรื่อง เมื่อพิจารณาในด้านภาษาแล้วถือว่าภาษาไทยกับภาษาลาวเป็นภาษาถิ่นของภาษาเดียวกันได้ ส่วนคนอังกฤษกับคนอเมริกันก็สามารถพูดกันรู้เรื่อง ภาษาอังกฤษกับภาษาอเมริกันก็นับเป็นภาษาถิ่นของภาษาเดียวกันได้
๒. เกณฑ์ด้านระบบการเขียนและด้านวรรณคดี คือ การมีระบบการเขียนและวรรณคดีร่วมกัน ในบางกรณีเราไม่อาจจะใช้เกณฑ์ข้อ ๑ มาพิจารณาได้ เช่น กรณีภาษาจีนซึ่งคนที่อยู่คนละภาคพูดกันไม่รู้เรื่อง เราจึงต้องคำนึงถึงระบบการเขียน ซึ่งคนเหล่านั้นใช้ร่วมกัน และคำนึงถึงวรรณคดีซึ่งเขามีร่วมกันด้วย เพื่อพิจารณาว่าภาษาเหล่านั้นเป็นภาษาถิ่นของภาษาเดียวกัน
๓. เกณฑ์ด้านการปกครอง คือ ในบางกรณีถึงแม้ว่าเข้าเกณฑ์ข้อแรก คือพูดกันรู้เรื่อง เช่น ภาษาอังกฤษกับภาษาอเมริกัน หรือภาษาไทยในเมืองไทยกับภาษาลาว ก็อาจจะถือว่าเป็นคนละภาษาก็ได้เพราะว่าอยู่ใต้การปกครองของคนละประเทศกัน