ตัวอย่างความแตกต่างในเรื่องการออกเสียงพยัญชนะท้ายคำ
เสียงพยัญชนะท้ายซึ่งเป็นเสียงกัก ในคำตาย ซึ่งลงท้ายด้วยเสียงพยัญชนะในแม่กก กด กบ และที่ลงท้ายด้วยเสียงสระสั้น เช่น ในคำว่า อบ ตัด ปัก แตะ (ในทางสัทศาสตร์ถือว่าลงท้ายด้วยเสียง -p, -t, -k และ -7 ตามลำดับ) ในภาษากรุงเทพฯ เมื่อออกเสียงเหล่านี้จะกัดลมไว้ตรงฐานที่เกิดของเสียงแต่ละเสียงแล้วไม่มีการปล่อยลมออกมาเลย แต่ในภาษาสงขลาเมื่อกักลมตรงที่เกิดของเสียงแล้วจะปล่อยให้ลมระเบิดออกทางจมูก
ตัวอย่างความแตกต่างในเรื่องการออกเสียงวรรณยุกต์
เรื่องลักษณะการออกเสียงวรรณยุกต์ในภาษาถิ่นต่าง ๆ จะเห็นได้ชัดว่า อาจจะแตกต่างกันได้มากคือ เมื่อเทียบเสียงที่มีลักษณะเป็นเสียงประเภทเดียวกัน เช่น เสียงประเภทระดับสูงด้วยกัน เสียงประเภทระดับกลางด้วยกัน หรือเสียงประเภทระดับต่ำด้วยกัน ในภาษาต่างถิ่นกันก็จะเห็นว่า ถ้าเทียบเสียงสูงด้วยกันก็อาจจะสูงไม่เท่ากัน ถ้าเทียบเสียงต่ำด้วยกันก็อาจจะต่ำไม่เท่ากันก็ได้ หรือถ้าเทียบเสียงกลางด้วยกันก็อาจจะเป็นเสียงกลางคนละระดับก็ได้ เช่น เสียงตรีในภาษากรุงเทพฯ ในคำว่า น้า ซึ่งในทางสัทศาสตร์ ถือว่า เป็นเสียงระดับสูง เมื่อเทียบกับเสียงสูงเสียงหนึ่งของสงขลาในคำว่า หนา ก็พอจะสังเกตได้ว่าในสงขลาเป็นเสียงที่สูงกว่า หรือเมื่อเทียบเสียงระดับต่ำในกรุงเทพฯ ในคำว่า ข่า (เสียงเอก) กับเสียงระดับต่ำในสงขลาในคำว่า ค่า ก็จะเห็นว่าในกรุงเทพฯ เป็นเสียงที่ต่ำกว่า เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า เสียงวรรณยุกต์ในภาษาถิ่นต่าง ๆ ที่พูดกันอยู่ในเมืองไทยนั้น เสียงวรรณยุกต์ในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเดียวกันจะคล้ายคลึงกันมาก เช่น ภาษาถิ่นปักใต้ด้วยกัน หรือภาคอีสานด้วยกัน หรือภาคเหนือด้วยกัน เป็นต้น แต่ถ้าเป็นภาษาถิ่นคนละภาคก็จะแตกต่างกันไปอย่างเห็นได้ชัด๑