ความแตกต่างระหว่างภาษาถิ่น
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาษาถิ่นอย่างใกล้ชิด กล่าวคือความแตกต่างระหว่างภาษาถิ่นเป็นหลักฐานที่แสดงว่า ภาษาเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่แรกเริ่มเดิมทีเมื่อมีคนที่พูดภาษาเดียวกันอยู่รวมกันเป็นกลุ่มในถิ่นซึ่งมีเขตแดนไม่สู้จะกว้างขวางนัก และยังใช้ภาษาเหมือน ๆ กันอยู่ เพราะสามารถติดต่อสมาคมกันอย่างใกล้ชิดดังได้อธิบายมาแล้ว แต่ต่อมาเมื่อสังคมนั้นมีคนมากขึ้น ต้องแยกย้ายกระจัดกระจายกันอยู่ กลุ่มที่ได้ติดต่อสมาคมกันก็ใช้ภาษาคล้ายคลึงกันมากกว่ากลุ่มที่ไม่ค่อยได้ติดต่อกัน (เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ เมื่อได้ติดต่อกัน การเปลี่ยนแปลงของภาษาก็เป็นไปทำนองเดียวกัน ทำให้ใช้ภาษาคล้ายคลึงกัน (คือแตกต่างกันน้อย) ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ติดต่อกันการเปลี่ยนแปลงของภาษาก็เป็นไปคนละทาง ทำให้ภาษาคล้ายคลึงกันน้อยลง พูดอีกอย่างก็คือแตกต่างกันมากขึ้น)
ภาษาถิ่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาถิ่นของภาษาใดอาจจะแตกต่างกันในเรื่องต่อไปนี้
๑. ลักษณะการออกเสียงแต่ละเสียง
๒. ระบบเสียง
๓. ความหมายของคำ
๔. ระบบไวยากรณ์
ความแตกต่างสองเรื่องแรกมีความสัมพันธ์กับสาเหตุที่สำคัญ ๓ ข้อ ที่ทำให้เกิดภาษาถิ่นอย่างใกล้ชิด ส่วนเรื่องที่สาม นอกจากจะสัมพันธ์กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาษาถิ่น ๓ ข้อแรกดังกล่าวแล้วยังอาจจะสัมพันธ์กับสาเหตุข้อสุดท้ายดังกล่าวแล้วด้วย ส่วนเรื่องระบบไวยากรณ์นั้นเป็นเรื่องที่แตกต่างกันน้อยที่สุดในภาษาถิ่นต่าง ๆ