คำจำกัดความ
คำว่า ภาษาถิ่น (ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า dialect ) ยังไม่มีคำจำกัดความที่แน่นอนตายตัวที่พอจะกล่าวได้แน่นอนก็คือว่าเป็นภาษาย่อยของภาษา ( language ) และเรามักจะหมายถึงภาษาที่พูดแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ผู้พูดภาษานั้น ๆ อาศัยอยู่
การแบ่งภาษาถิ่น
การแบ่งภาษาถิ่นมักจะแบ่งตามภูมิศาสตร์หรือท้องที่ที่ผู้พูดอาศัยอยู่ ในแต่ละภาษาจะประกอบด้วยภาษาถิ่นต่าง ๆ เป็นจำนวนมากมาย ทั้งนี้แล้วแต่ว่าเราจะแบ่งภาษาถิ่นให้ละเอียดปลีกย่อยลงไปมากน้อยแค่ไหน เป็นต้นว่า ภาษาถิ่นของไทยเฉพาะที่พูดกันอยู่ในอาณาเขตประเทศไทย ถ้าจะแบ่งตามภาคก็จะได้ภาษาถิ่น ๔ ภาคคือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ เพราะภาษาถิ่นของต่างภาคก็จะมีลักษณะแตกต่างกัน ในแต่ละภาคก็อาจจะแบ่งย่อยลงไปได้อีกเป็นภาษาถิ่นของแต่ละจังหวัด แต่ละอำเภอ แต่ละตำบล และแต่ละหมู่บ้าน เพราะภาษาถิ่นของแต่ละจังหวัดในภาคเดียวกันก็จะมีลักษณะไม่เหมือนกัน ในทำนองเดียวกัน ภาษาถิ่นของแต่ละอำเภอในจังหวัดเดียวกันหรือภาษาถิ่นของแต่ละตำบลในอำเภอเดียวกัน หรือภาษาถิ่นของแต่ละหมู่บ้านในตำบลเดียวกันก็มีลักษณะไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่ภาษาถิ่นของแต่ละครอบครัวในหมู่บ้านเดียวกัน ตลอดจนคนแต่ละคนในครอบครัวเดียวกัน ก็มีลักษณะไม่เหมือนกัน ฉะนั้นภาษาถิ่นเมื่อแบ่งย่อยที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นภาษาถิ่นของคนแต่ละคน (ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า idiolect) เรายิ่งแบ่งภาษาถิ่นย่อยลงไปมากเท่าใด ก็ยิ่งจะเห็นความแตกต่างของภาษาถิ่นย่อย ๆ เหล่านั้นน้อยลงทุกที พูดง่าย ๆ ภาษาถิ่นต่างภาคกันจะแตกต่างกันมากกว่าภาษาถิ่นต่างจังหวัดในภาคเดียวกัน ภาษาถิ่นต่างจังหวัดกันจะแตกต่างกันมากกว่าภาษาถิ่นต่างอำเภอในจังหวัดเดียวกัน เป็นต้น