มีตำนานเล่าว่าในสมัยก่อนนั้นท้าวศรีปาก ท้าวเหลือสะท้าน ท้าวไกรสร เสนาบดีเมืองสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันอยู่ในเขต จ.มหาสารคาม) ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายลาวพร้อมด้วยบริวาร ชอบเข้าไปในป่าเพื่อล่าสัตว์ในเขตลุ่มน้ำลำพังชู ตลอดไปจนถึงลุ่มน้ำชี (ในเขต จ.ชัยภูมิ) กล่าวกันว่าการล่าแรดเพื่อเอานอมาทำยานั้น ถ้าพบแรดในเขตพุทไธสงจะไล่ล่าได้ในเขตชัยภูมิ และถ้าพบในเขตชัยภูมิจะไล่ล่าได้ในเขตพุทไธสง ครั้งหนึ่งทั้งสามได้นกขนาดใหญ่สวยงามมากตัวหนึ่งที่บริเวณบึงสระบัว ซึ่งนกตัวนั้นมีชื่อเรียกกันว่า นกหงส์ นกตกตัวนั้นบินมาตกบริเวณป่ารกด้านทิศตะวันออก จึงออกตามหานกตัวนั้นในป่าดังกล่าว แต่กลับได้พบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ไม่เคยพบที่ใดมาก่อน ด้วยความดีใจจึงเลิกหานกและต่างพากันสำรวจโดยรอบ จึงได้พบกับเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมที่บริเวณด้านหลังองค์พระพุทธรูป และยังพบหนองน้ำขนาดย่อมด้านหน้าองค์พระ และยังพบหัวแรดที่ตายมานานแล้วอยู่ในหนองน้ำนั้น มีต้นตาลเรียงรายอยู่รอบ ๆ มีเถาวัลย์พันอยู่อย่างรุงรัง ไม่มีหมู่บ้านคนในบริเวณนั้น จึงกลับไปบ้านเมืองของตนและได้ชักชวนญาติพี่น้องมาอยู่ที่นี่ แล้วได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า บ้านหัวแรด โดยมีท้าวศรีปาก เป็นเจ้าเมือง เรียกว่า อุปฮาดราชวงศ์ และได้ช่วยกันบูรณพระพุทธรูปและสร้างเป็นวัด ชื่อว่า วัดหงส์ ตามชื่อนกที่ตกบริเวณนี้