เจ้านครจำปานาคบุรี มีธิดาชื่อว่า นางแสนสี และยังมีหลานสาวอายุไล่เลี่ยกันชื่อว่า นางคำแพง หญิงสาวทั้งสองมีรูปร่างหน้าที่สวยสดงดงามเป็นที่ต้องตาต้องใจของชายทั้งหลาย ท้าวนครจำปานาคบุรี ได้จัดให้มีคนคอยเผ้าดูแลอย่างดี ผู้ดูแลชื่อว่า จ่าแอ่น ซึ่งจะคอยตามติดอยู่ทุกฝีก้าวไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม และในเมืองจำปานาคบุรีแห่งนี้ ได้มีนาคที่มีอิทธิฤทธิ์สูงอยู่ตนหนึ่ง ซึ่งหากมีชาวเมืองได้รับความเดือดร้อนก็จะให้ความช่วยเหลือ จนเมืองนี้ได้ชื่อว่า นาคบุรี
ในครั้งนั้นมีเมืองอยู่อีกเมืองหนึ่งที่มีชื่อว่าบูรพานครตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของทะเล ท้าวผุ้ครองนครมีโอรสชื่อว่า ท้าวฮาดคำโปง และมีหลานชายชื่อว่า ท้าวอุทร ทั้งสองได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่อสู้มา จึงจะลองวิชาโดยจะไปต่อสู้กับนาคที่เมืองจำปานาคบุรีตามคำสั่งของอาจารย์ เมื่อทั้งสองได้เดินทางไปถึงเมืองจำปานาคบุรียังไม่ทันได้ลองวิชา ทั้งสองหนุ่มกลับไปสนใจธิดาและหลานสาว ทั้งสองจึงพยายามที่จะติดต่อกับนางทั้งสองแต่ก็ถูกกีดกันจากจ่าแอ่นผู้ดูแล แต่ชายหนุ่มทั้งสองก็ยังคงพยายามต่อไป และได้รู้มาว่าทุกๆเจ็ดวันนางทั้งสองจะออกมาเล่นน้ำที่ทะเล
ต่อมาหญิงทั้งสองก็ออกไปเล่นน้ำ พร้อมด้วยบริวารตามปกติ ชายทั้งสองเห็นเป็นโอกาสอันดีจึงเสกผ้าเช็ดหน้าให้เป็นหงส์ทองไปขวางเรือไว้ นางอยากได้จึงให้จ่าแอ่นพายเรือตามไปเก็บ ยิ่งตามยิ่งลึกเข้าไปในทะเลแต่ก็ยังไม่สามารถจับ มารู้สึกตัวอีกครั้งก็อยู่กลางทะเลเสียแล้ว ท้าวทั้งสองเห็นจึงเอานางทั้งสองและบริวารขึ้นเรือของตนไป
เมื่อเจ้าเมืองจำปานาคบุรีทราบเรื่องเข้าจึงได้ไปขอให้นาคช่วย นาคจึงบรรดาลให้พื้นทะเลสูงตัวขึ้น น้ำทะเลเหือดแห้งไป เรือของท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทรไม่สามารถที่จะแล่นต่อไปได้ จึงเอาจ่าแอ่นไปซ่อนในป่า บริเวณดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกว่า ดงจ่าแอ่น เอานางแสนสีไปซ่อนไว้อีกที่หนึ่ง จึงเรียกว่า ดงแสนสี และเอาหญิงหลานเจ้าเมืองไปซ่อนอีก จึงเรียกบริเวณนั้นว่า ดงป่าหลาน เมื่อน้ำในทะเลทั้งหมดแห้งเหือดไปสัตว์ต่าง ๆ ในทะเลก็พากันตายหมด นกทั้งหลายพากันไปกินซาก ซึ่งกินอยู่ประมาณครึ่งเดือนกว่า กุ้งหอยปูปลาในทะเลก็หมด ก็ได้พากันขี้ทิ้งกองรวมกันไว้เป็นกองใหญ่มาก จนเรียกบริเวณนั้นว่า โพนขี้นก
ท้าวฮาดคำโปง ท้าวอุทร นางแสนสีและนางคำแพง ติดอยู่กลางทะเลที่แห้งเหือดนั้น แต่ชายทั้งสองเกิดหลงรักนางแสนสี จึงเกิดการต่อสู่ขึ้น ท้าวฮาดคำโปงแพ้ถูกฆ่าตาย จึงกลายเป็นผีเฝ้าทุ่ง ในเวลากลางคืนจะกลายเป็นแสงไฟลอยตามหานางแสนสี ชาวบ้านแทบทุ่งกุลาร้องไห้เรียกว่า ผีโป่ง หรือ ผีทุ่งศรีภูมิ
ฝ่ายเจ้าเมืองจำปานาคบุรีเกิดความเห็นใจทั้งธิดาของตนและท้าวอุทรที่ต้องรอนแรมอยู่กลางทุ่งที่แห้งแล้ง จึงอภัยให้ท้าวอุทรหลังจากที่โกรธมานาน จึงมอบไพล่พลไปสร้างดงเท้าสาร หรือ เมืองเท้าสาร และยอมยกนางแสนสีให้เป็นมเหสีของท้าวอุทร