มีอยู่วันหนึ่งเกิดน้ำท่วมขึ้น คนลาวจึงนั่งไปกับเรือของคนไทย โดยคนลาวนั่งอยู่ที่หัวเรือและคนไทยนั่งอยู่ที่ท้ายเรือ และก็เป็นคนพายเรือไปด้วย
เมื่อพายเรือไปได้สักระยะหนึ่ง คนลาวเห็นว่าเรือวิ่งตรงเข้าไปหาตนไม้จนจะชนต้นไม้ คนลาวตกใจกลัวจึงร้องบอกไปว่า
“ซ้ายหน่อยๆ” คนไทยก็พายงัดเล็กน้อย เรือก็ไม่ชนต้นไม้ เรือรอดผ่านไปได้
เมื่อพายต่อไปอีกสักระยะเรือก็รี่ตรงเข้าไปจะชนบ้านอีก คนลาวเห็นดังนั้นก็ตกใจ ร้องขึ้นมาอีกว่า
“ขวาหน่อยๆ” คนไทยก็พายงัดเล็กน้อย เรือก็รอดไปได้โดยไม่ชนบ้าน
คนลาวคนนั้นจึงบังเกิดความสงสัยแล้วจึงถามคนไทยขึ้นว่า “นี่เรือของเพื่อนทำด้วยอะไรนะถึงว่าง่ายอย่างนี้”
“อ๋อเรือลำนี้ขุดขึ้นจากไม้ตะเคียนนะเพื่อน” คนไทยตอบคนลาว
คนลาวได้ฟังดังนั้นเมื่อกลับถึงบ้านก็บอกกับเมียของตนว่า “นี่น้องไม้ตะเคียนนี่ว่าง่ายจัง
พี่อยากจะขุดเรือจากไม้ตะเคียนสักลำ ที่ข้างบ้านเรามีไม้ตะเคียนอยู่ต้นหนึ่ง
เดี่ยวพี่จะโค่นมาขุดทำเรือนะ”
เมียก็บอกกับคนลาวที่เป็นผัวว่า “มันจะทับบ้านพังหนะซิพี่”
“มันไม่ทับบ้านเราหรอก ไม้ตะเคียนมันว่าง่าย” ฝ่ายผัวรีบอธิบายสรรพคุณของต้นตะเคียนเสร็จสรรพ
ว่าแล้วคนลาวคนนั้นก็คว้าขวานไปตัดต้นตะเคียนที่อยู่ข้างบ้านในทันที ฟันไปๆจนต้นตะเคียนจวนเจียนจะขาดอยู่แล้ว
มันก็ค่อยๆเอนลงจะทับบ้าน คนลาวก็ไปยืนโบกไม้โบกมือร้องตะโกนไปว่า “ซ้ายหน่อยๆ”
ต้นตะเคียนก็ล้มลงทับหลังคาบ้านพังไปเรียบร้อย คนลาวคิดบ่นอยู่ในใจว่า
“เอ๊ะ! ทำไมต้นตะเคียนบ้านเรานี่ ถึงดื้อขนาดนี้ ทำไมไม่เหมือนต้นตะเคียนของคนไทยเลย ว่าง่ายเอาเสียมากๆ”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
การเข้าใจอะไรที่ไม่ถูกต้อง หรือการที่หลงเชื่อในสิ่งที่ผิดๆ จะนำมาซึ่งความเสียหายหรือความหายนะได้
ฉะนั้น ก่อนที่จะเชื่อในอะไรก็ตาม ควรที่จะพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ โดยใช้หลักของเหตุผลเป็นหลักก่อน