ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในวทริการามเมืองโกสัมพี ทรงปรารภพระราหุลเถระ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง หลังจากเรียนจบศิลปวิทยาจากเมืองตักกสิลาแล้ว ได้ออกบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าหิมพานต์อยู่มาวันหนึ่งพระฤาษีได้สัญจรไปที่บ้านชายแดนหมู่บ้านหนึ่ง คนในหมูบ้านนั้นได้สร้างอาศรมถวาย จึงได้อาศัยอยู่ที่นั้นเรื่อยมา
สมัยนั้น มีนายพรานนกคนหนึ่งในหมู่บ้านนั้น เลี้ยงนกกระทาไว้ตัวหนึ่งเพื่อไว้เป็นนกต่อ ทุกวันเขาจะพานกกระทาตัวนั้นไปด้วยเพราะต้องอาศัยเสียงของนกกระทาตัวนั้น นกกระทาตัวนั้นคิดขึ้นว่าเหล่าบรรดานกกระทาได้ตายไปเป็นจำนวนมาก เพราะเรา เป็นบาปกรรมของเราหนอ นับแต่นี้ไปเราจะไม่ส่งเสียงร้องละ” นายพรานเมื่อเห็นนกกระทาไม่ร้องก็ใช้ไม้ตีหัว นกกระทากลัวตายจึงร้อง สร้างความทุกข์ลำบากให้แก่มันเป็นอย่างมาก อยู่ต่อมาวันหนึ่ง นายพรานจับนกกระทาได้เต็มกระเช้าแล้ว คิดจะดื่มน้ำไปที่อาศรมของพระฤาษีโพธิสัตว์ วางกรงนกไว้แล้วดื่มน้ำ ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจึงเอนกายผล่อยหลับไป
นกกระทาทราบว่านายพรานหลับ แล้ว จึงถามความสงสัยของตนกับพระฤาษีว่า “พระคุณเจ้าข้าพเจ้าเป็นอยู่สบายได้บริโภคอาหารตามชอบใจ แต่อยู่ในระหว่างอันตราย อยากทราบว่าทางเดินชีวิตของข้าพเจ้าเป็นอย่างไรหนอ?”
พระฤาษีแก้ปัญหานกกระทาว่า “นกกระทาเอ๋ย.. ถ้าใจของเจ้าไม่น้อมไปเพื่อกรรมอันเป็นบาป บาปย่อมไม่แปดเปื้อนเจ้าผู้บริสุทธิ์ใจไม่คิดจะทำบาปกรรมดอก”
นกกระทาถามต่ออีกว่า พระคุณเจ้า นกกระทาจำนวนมากคือญาติของข้าพเจ้า นายพรานอาศัยข้าพเจ้าทำปณาติบาตอยู่ ข้าพเจ้ารังเกียจเรื่องนี้เป็นอันมาก บาปกรรมจะมีถึงแก่ข้าพเจ้าไหมหนอ”
พระฤาษีจึงตอบเป็นคาถาว่า
“ถ้าใจของท่านไม่คิดประทุษร้ายไซร้ กรรมชั่วที่นายพรานอาศัยท่านกระทำแล้ว ย่อมไม่มีแก่ท่านบาปกรรมย่อมไม่แปดเปื้อนท่านผู้บริสุทธิ์ ผู้มีความขวนขวายน้อย”
แล้วก็พูดให้นกกระทาสบายใจว่า “เจ้าไม่มีความจงใจการทำปาณาติบาต บาปกรรมจึงไม่มีแก่เจ้าผู้บริสุทธิ์ดอกนะ” นกกระทาได้ฟังแล้วก็สบายใจนิ่งเงียบอยู่ ฝ่ายนายพรานตื่นนอนแล้วลุกขึ้นไหว้ฤาษีแล้วก็ถือกรงนกกระทากลับบ้านไป
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ไม่มีเจตนาจะทำบาปกรรม แม้จะประกอบอาชีพที่เสี่ยงต่อการทำบาป บาปกรรมก็ไม่ตกแก่ผู้นั้น