1.ขี้ก้อนใหญ่ให้เด็กเห็น
สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงการกระทำใดๆที่เลวร้ายหรือการทุจริต โดยไม่มีความละอายใจ กระทำการโดยโจ่งแจ้งให้
ผู้น้อยเห็นอย่างโจ่งแจ้ง
ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงผู้ใหญ่ที่ถ่ายนั้น ควรจะทำในที่มิดชิด ไม่ใช่มาถ่ายต่อหน้าเด็ก
2.เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม
สํานวนสุภาษิตนี้ หมายความว่า เมื่อเราไปที่แห่งใดผู้คนส่วนใหญ่มีสังคมประเพณีอย่างไร ก็ให้ปฏิบัติตามให้สอดคล้องอย่าไปทำพฤติกรรมขัดแย้งกับเขา
ที่มาของสํานวน “ตาหลิ่ว” ในที่นี้หมายถึงตาบอดข้างเดียว ไม่ได้หมายถึงการหลิ่วตา เปรียบเปรยว่าหากเราเข้าเมืองที่มีแต่คนตาบอดข้างเดียว แม้เราตาจะไม่บอด เราก็ต้องทำตาบอดข้างเดียวให้กลมกลืนไปด้วย
3.ขว้างงูไม่พ้นคอ
สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงผู้นั้นมีปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พยายามจะปัดปัญหาให้พ้นจากตัว แต่แล้วก็ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบไปได้ ต้องได้รับผลกระทบจากปัญหานั้นอยู่ดี
ที่มาของสํานวน เปรียบเหมือนกับการขว้างงูออกไปจากตัว แต่เนื่องจากงูตัวยาวจึงยังใช้หางรัดคอผู้ขว้างไว้อยู่ดี ผู้ขว้างจึงไม่สามารถขว้างงูให้พ้นจากตนเองได้
4.ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง
สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงสิ่งที่ดูภายนอกแล้วดูสวยงามดูดี แต่แท้จริงแล้วภายในนั้นแย่
ที่มาของสํานวน เปรียบเทียบกับผลไม้ ที่ภายนอกผลสวยงาม แต่ภายในนั้นเป็นโพรงเนื่องจากมีแมลงกินหมดแล้ว