สามเกลอ
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในกระท่อมน้อยหลังหนึ่งห่างจากตัวเมือง มีชายหนุ่ม 3 คน ต่างเป็นเพื่อนสนิทรักกัน และซื่อสัตย์ต่อกันยิ่งนัก อาศัยอยู่ต่างก็ช่วยกันทำมาหากิน มิได้มีคนหนึ่งคนใดเกียจคร้าน แต่ก็ยังยากจน เพราะการทำมาหากิน ของคนในเมืองแร้นแค้น เนื่องจากความแห้งแล้ง ที่เกิดขึ้นติดต่อกันนานหลายปี
วันหนึ่ง ชายหนุ่มทั้งสามคนได้ปรึกษาหารือกันว่า ถ้าขืนอยู่กันอย่างนั้นต่อไปอีก จะต้องอดตายแน่จึงได้ตกลงกันว่า จะแยกกันออกไปทำมาหาเลี้ยงชีพในต่างเมือง ชายหนุ่มคนหนึ่งเลือกไปผจญโชคทางทิศเหนือ คนที่สองมุ่งไปทางทิศใต้ และอีกคนหนึ่งมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก
เมื่อแยกกันไปแล้ว สองคนแรกที่ไปทางทิศเหนือ และทิศใต้ หาเลี้ยงชีพได้พอกินไปวันๆ เก็บเงินสะสมไว้ไม่ได้ ในทิศตะวันออกนั้น บังเอิญมีเมืองๆ หนึ่ง เจ้าผู้ครองเมืองสิ้นพระชนม์ลง โหรประจำเมืองได้ทำนายว่า การเลือกเจ้าผู้ครองใหม่นั้น ควรจะต้องเลือกคนที่เดินทางมาจากที่ไกล ซึ่งกำลังจะเดินทางมาถึงแล้ว บุคคลคนนี้จะทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองนานัปการ แม้คนๆ นี้จะเคยยากจนมาก่อน หากเลือกคนในเมืองขึ้นครองเมือง ภัยพิบัติจะเกิดแก่ราษฏร
พวกเสนาประชาชนจึงตั้งตาคอยผู้มีบุญ ส่งคนแยกย้ายกันออกไปสืบเสาะ หาตัวตามหมู่บ้านก็คว้าน้ำเหลว ในที่สุดก็เห็นชายคนหนึ่ง กำลังมุ่งหน้าเดินทางเข้าเมือง จึงเข้าไปห้อมล้อมเอาตัวเข้าเมือง
จากการซักถาม ชายผู้โชคดีก็เล่าประวัติของตน โดยไม่ปิดบัง ว่าตนนั้นเป็นคนยากจนยิ่งนัก จะมาหาทางประกอบอาชีพในเมืองนี้ เพราะที่บ้านเดิมทำมาหากินไม่ได้ พืชพันธุ์ธัญญาหารแห้งตาย เนื่องจากความแล้ง ชาวเมืองและเสนาจึงพาตัวชายหนุ่มไปหาโหร ให้จับยามผูกดวงดูลักษณะ เห็นว่าชายหนุ่มนั้นคือผู้มีบุญ สมควรจะอัญเชิญให้ขึ้นครองเมือง เป็นเจ้าเมืองแทนคนเก่าต่อไป
เมื่อได้ครองเมืองแล้ว ชายหนุ่มผู้มีอัธยาศัยก็ไม่ได้ลืมตัว คิดถึงเพื่อนเก่าที่แยกไปหากิน ทางทิศเหนือ และทิศใต้ หาโอกาสที่จะส่งคนไปสืบหาและชวนมาทำงานด้วย คงจะเป็นหลักฐานดีกว่าจะระหกระเหินไป
อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่เจ้าผู้ครองเมืองกำลังออกว่าความเมือง ประชุมปรึกษาหารือ กับกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ในวัง เพื่อวางแผนทำนุบำรุงบ้านเมืองต่อไป
กิติศัพท์โชคดีของเพื่อน ผู้มุ่งหน้าไปผจญโชคทางทิศตะวันออก ได้กระจายไปถึงเพื่อนอีก 2 คน ทางทิศเหนือ และทิศใต้ ราวกับนัดกัน ปรากฏว่าชายหนุ่มทั้งสอง ต่างละงานที่ตนทำอยู่ เดินทางมุ่งหน้ามาขอพึ่งในใบบุญ ของเพื่อนผู้ได้ดี ด้วยความบังเอิญชายหนุ่มทั้งสองคน มาถึงหน้าวังเร็วช้ากว่ากันเพียงเล็กน้อย
ชายที่มาจากทางทิศเหนือ ความที่ถือวิสาสะ พอมาถึงหน้าประตูวังก็ไม่ได้ไต่ถามใคร วิ่งตรงเข้าไปในที่ประชุมราชการ ตรงไปที่แท่นของเจ้าผู้ครองเมือง พลางตะโกนอย่างลิงโลดว่า
"เฮ้ย! เอ็งยังจำข้าได้ไหม พอรู้ว่าเอ็งขึ้นครองเมือง ข้าก็รีบมา จะได้หายลำบากเสียทีหนึ่ง"
เจ้าเมืองได้ยินดังนั้น จึงคิดในใจว่า "เรานั้นมิใช่จะลืมเพื่อน และละอายอดีตของตัวเอง แต่คนอย่างเพื่อนเราคนนี้ ขืนรับอุปการะก็จะวางตัวเป็นใหญ่ อ้างความเป็นเพื่อนกับตัวเรา ก่อความเสียหายและเดือนร้อน กับราชการและประชาชนได้"
คิดแล้วเจ้าผู้ครองเมืองจึงสั่งด้วยเสียงอันดังว่า "อ้ายหมอนี่บังอาจมาอ้างว่า เป็นเพื่อนสนิทของเรา เราไม่เคยรู้จักมัน อ้ายนี่เป็นบ้าแน่ เสนาจับตัวไปขังไว้ก่อน"
ทหารจึงจับตัวชายผู้ไม่รู้จักกาละเทศะคนนั้น ไปจองจำไว้ในตรุ ด้วยเจ้าเมืองยังเมตตาในฐานะเพื่อนเก่า ไม่สั่งนำตัวไปฆ่าเสีย โทษการตีตัวเสมอเจ้านาย ต่อหน้าธารกำนัลนั้น จะสั่งประหารเสียก็ได้
อีก 2-3 วันต่อมา ขณะที่เจ้าเมืองกำลังประชุม ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อยู่นั้น เพื่อนคนที่แยกตัวไปหากินทางทิศใต้ ก็เดินทางมาถึง พอเห็นเพื่อนเก่านั่งอยู่บนที่สูง ท่ามกลางเสนาและอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ ก็รู้ว่ากำลังประชุมเรื่องสำคัญ จึงแอบไปนั่งคอยอยู่เชิงบันได บังเอิญเจ้าผู้ครองเมือง ทรงเหลียวมาทอดพระเนตรเห็น จึงรับสั่งให้ยุติการประชุมไว้ชั่วคราว แล้วทรงเรียกเพื่อนเก่าเข้าเฝ้าโดยใกล้ชิด
ฝ่ายชายหนุ่มผู้มีมารยาท เมื่อได้ยินรับสั่ง ก็คลานเข้าไปหมอบอยู่เฉพาะหน้า ของเจ้าผู้ครองเมือง ทำความเคารพเช่นราษฏรสามัญ แล้วทูลว่า
"กระหม่อมได้ทราบข่าวว่าพระองค์ ได้ขึ้นครองเมืองนี้เลยมาขอเข้าเฝ้า นับเป็นบุญวาสนาของพระองค์ ที่ทรงกระทำไว้แต่ปางก่อน พระชาตินี้จึงประสบความสุขความเจริญ และเป็นวาสนาของกระหม่อมที่มีโอกาสเข้าเฝ้า ไม่ทราบว่าทรงจำข้าพระองค์ได้หรือไม่"
เจ้าผู้ครองเมืองจึงทรงคิดว่า "เพื่อนเราคนนี้ เป็นคนมีมารยาท รู้จักกาละเทศะ รู้จักสิ่งที่ควรไม่ควร ทำตนเหมาะสมกับโอกาส" จึงรับสั่งดังๆ ว่า
"อ๋อ! จำได้ซีเพื่อน ดีใจมากที่เพื่อนมาหา เข้ามานั่งใกล้ๆ กับเราสิ" พวกขุนนาง ข้าราชการ ได้ยินเช่นนั้นจึงรีบกุลีกุจอจัดที่ให้ชายคนนั้น ทรงยินดีที่เพื่อนมาเยี่ยม รับสั่งให้จัดอาหารคาวหวาน มาเลี้ยงเป็นการใหญ่
เมื่อเลี้ยงดูเสร็จแล้ว เจ้าผู้ครองเมืองจึงเอ่ยปาก ชวนเพื่อนเก่าให้มาอยู่ด้วย ซึ่งชายหนุ่มก็รับคำทรงชวน ด้วยความสมใจและยินดี
วันรุ่งขึ้น เจ้าผู้ครองเมืองทรงชวนเพื่อน ไปตามเสด็จไปเยี่ยมเพื่อนที่โดนขัง อยู่ในตรุ เมื่อเสด็จไปถึงที่คุมขัง ก็รับสั่งกับเพื่อนผู้ไม่รู้จักกาละเทศะว่า
"เพื่อนเอ๋ย ที่เพื่อนต้องมาโดนขังอย่างนี้ ก็เพราะว่าเพื่อนทำอะไรไม่เหมาะสมเลย แม้เราจะเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อนก็ตาม แต่การที่ทำตัวไม่ถูกไม่ควร ไม่รู้จักกาละเทศะ เหตุการณ์ สถานที่ และบุคคล เราจึงจำต้องให้เสนาจับมาขังไว้ เพราะถ้าเราไม่ทำเช่นนี้ เราก็ปกครองเมืองนี้ไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรก็ตามไหนๆ เราก็เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาก่อน เราจึงไม่สั่งประหารชีวิตเพื่อน ยังอยากจะให้เพื่อนอยู่ทำงานกับเรา เราจะให้เพื่อนเป็นยามเฝ้าประตู ส่วนเพื่อนเราคนนี้ เราจะแต่งตั้งให้เป็นทหารคนสนิท เพราะความรู้จักที่สูงที่ต่ำ รู้จักกาละเทศะ และไม่ทำให้เราต้องอายผู้คน ที่เข้าเฝ้าปรึกษางานเมืองกันอยู่"
เรื่องความรู้จักกาละเทศะ การปรับตัวนั้น มีความสำคัญอยู่ทุกสมัย ไม่ว่าสังคมที่ไหนๆ ก็ตาม