ยันต์สามดอก
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีชายชาวลานนาคนหนึ่ง อยู่กับพ่อผู้ยังชีพด้วยการทำสวน แม่ของเขาตายเสียตั้งแต่เมื่อเขายังจำความไม่ได้ ความสงสารลูกประกอบทั้งความยากจน ชายผู้พ่อก็มิได้แต่งงานใหม่ เลี้ยงลูกจนเติบใหญ่ด้วยมือของตัวเอง ช่วยกันรดน้ำพรวนดิน เก็บพืชพักผลไม้ขาย บางทีก็อดมื้อกินมื้อ ฐานะขัดสนพยายามเลี้ยงลูกชาย มาจนลูกชายนั้นอายุได้ 15 ปี
อยู่มาวันหนึ่ง ชายผู้พ่อรู้สึกตัวว่าไม่สบายมาก และมีลางสังหรณ์ว่าตัวนั้น คงจะอยู่ได้ไม่นาน จึงมีความเป็นห่วงลูกชายเป็นอย่างยิ่ง เพราะยังโตไม่พอที่จะเลี้ยงตัวได้ ชายผู้พ่อแข็งใจทำตะกรุดขึ้น 3 ดอก เป็นกะกรุดใหญ่ ถักเชือกขั้นเป็นเปราะ 3 ดอก แล้วยื่นให้แก่ลูก พลางบอกลูกด้วยเสียงอันแหบแห้งว่า
"อ้ายหนู เอ็งเอาตะกรุดนี้แขวนคอไว้ อย่าให้ถอดออกจากตัวได้ เมื่อไหร่เอ็งตกยากเข้าที่อับจน เอ็งก็แกะตะกรุดดอกแรก ทางขวามือออกคลี่ แล้วอ่านจารึกในตะกรุดดู ความทุกข์ยากจะหายไปทั้งสิ้น หมดบุญพ่อแล้วก็มีแต่ตะกรุดนี่แหละ ที่จะคอยช่วยเหลือเอ็งได้"
ลูกชายเอื้อมมือไปรับเชือกที่ร้อยตะกรุด 3 ดอก พลางร้องไห้สะอึกสะอื้นไปพลาง แข็งใจตอบไปตามคำสั่ง ไม่ต้องห่วงฉันดอก หลับเสียบ้างจะได้พัก แล้วจะได้หายเจ็บ ว่าแล้วชายหนุ่ม ก็เอาสร้อยเชือกเส้นนั้นแขวนที่คอไว้
แล้วในที่สุดพ่อเขาก็ตาย ลูกชายจึงจัดการเผาศพพ่อตามประเพณี อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อเสร็จพิธีศพพ่อแล้ว ชายหนุ่มมาคิดว่า "เราจะอยู่ที่เก่าทำสวนกินคนเดียว คงเป็นไปไม่ได้ เราไปหากินตายเอาดาบหน้าจะดีกว่า พ่อก็ดูเหมือนอยากจะให้เราทำอย่างนั้น"
คิดแล้วชายหนุ่มก็เก็บข้าวของห่อผ้าขาวม้า ออกเดินมุ่งหน้าลงมาทางใต้ เขาไปที่ไหนก็พยายามหางานทำ โดยไม่เลือกงาน แต่ก็หาไม่ได้ เร่รอนผ่านเมืองต่างๆ ลงมาหลายเมือง เงินทองเล็กๆ น้อยๆ ที่พ่อทิ้งไว้ให้และเอาติดตัวมา ก็ร่อยหรอจนหมดตัว ต้องเอาแรงงานแลกข้าวชาวบ้านกิน
วันหนึ่งเขาไปขอข้าวบ้านใครกินไม่ได้ เพราะแต่ละบ้านก็ยากจนด้วยกันทั้งนั้น ผ่านลำธารหรือคลอง เขาก็ก้มลงช้อนน้ำกินดับความหิว ในที่สุดหิวจนทนไม่ได้ เกิดอาการหน้ามืดเดินต่อไปไม่ไหว เขานึกถึงคำที่พ่อสั่งขึ้นมาได้ เขาจึงแก้ตะกรุดลูกที่ 1 ออกมาคลี่ดู
ปรากฎว่าเขาอ่านตัวอักษรในตะกรุดนั้นไม่ออก ต้องไปขอให้สมภารวัดข้างทางอ่านให้ คาถาในตะกรุดนั้นเขียนไว้แปลได้ว่า "หากเห็นพระสงฆ์องค์ใดอยู่ใกล้ๆ ให้ขอข้าวสุกท่านกิน และขออยู่กับท่าน"
พระผู้อ่านจารึกในตะกรุด จึงชวนชายหนุ่มให้อยู่ที่วัดเสียระยะหนึ่งก่อน จะได้มีทั้งที่กินและที่นอน ไม่ต้องตุหรัดตุเหร่ต่อไป ชายหนุ่มก็ปรนนิบัติพระ ด้วยความขยันขันแข็ง จนพระสมภารเกิดความเมตตาสอนหนังสือให้ จนอ่านออกเขียนได้คล่องแคล่ว ชายหนุ่มจึงคิดในใจว่า
"พระอาจารย์ก็มีความเมตตากรุณาตัวเราเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าเราจะอยู่อย่างนี้ ก็คงจะต้องเป็นลูกศิษย์พระไปจนตาย จะลองนำความคิดนี้ไปปรึกษาพระอาจารย์ดู"
พระอาจารย์เมื่อฟังลูกศิษย์ปรารภก็เกิดเห็นด้วย จึงอนุญาตให้เขาลาเดินทางผจญโชคต่อไป แต่โชคไม่ช่วยทั้งๆ ที่เขาเป็นคนดี และขยันขันแข็ง ยิ่งเดินทางไปๆ ก็ยิ่งจนลงๆ หางานอะไรทำก็ไม่ได้ จะถึงต้องอดมื้อกินมื้อ จนในที่สุดเดินไม่ไหว เขาจึงตัดใจแกะตะกรุดดอกที่สองออกมา คลี่อ่านข้อความในตะกรุดนั้นเป็นภาษาหนังสือธรรมดา บอกไว้ว่า
"ต้นไม้เป็นเงินเป็นทอง" ชายหนุ่มเข้าใจความสั้นๆ นี้เป็นอย่างดี จึงเข้าป่าตัดฟืนมาขายได้เงินทองมาซื้ออาหารกิน เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ สิ้นทุกข์ไปอีกระยะหนึ่ง ในที่สุดฟืนก็หมดป่า ทำให้เขาตกอับต้องยากจนอย่างเดิมอีก เมื่อหมดหนทาง เขาจึงแกะตะกรุดดอกสุดท้ายออกมาคลี่ดู ความที่จารึกไว้สั้นๆ มีว่า
"ของที่แน่นอนอยู่ในไร่" พออ่านจบเขาก็เข้าใจทันที เสียใจที่ตนทิ้งไร่และสวน อันเป็นสมบัติของพ่อแม่เสีย หากเขาหยุดการเร่ร่อน กลับไปยังที่ดินของตัว หักล้างถางพง เริ่มทำสวน ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ทำจริงจัง หยุดเร่ร่อนก็จะตั้งหลักแหล่งได้
เมื่อคิดได้ดังนั้น เขาจึงเกิดความปลอดโปร่งใจ รีบเดินทางกลับมาอยู่บ้านเดิม ชาวบ้านแถวนั้นก็คุ้นเคยกันมาก่อน เดินผ่านบ้านไหนต่างก็เรียกชายหนุ่ม ให้ขึ้นไปกินข้าวบนเรือน และมิได้เรียกแต่ปาก ขยั้นขยอให้ร่วมรับประทานอาหาร ตามอัธยาศัยของชาวบ้านไทย ชายหนุ่มเกิดความรู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านไป และที่ตนตัดสินใจทิ้งถิ่นเดิม ไปในที่ใหม่ ขาดทั้งความจัดเจนในพื้นที่ ขาดทั้งคนชอบพอคุ้นเคยเพื่อนและญาติ จึงทำให้เขาต้องลำบากอยู่นาน
หลังจากได้รับความอบอุ่น จากการต้อนรับของเพื่อนบ้าน ที่รู้ว่าเขาเป็นคนกำพร้าทั้งพ่อและแม่ เขาก็เกิดกำลังใจ หักล้างถางพง ชาวบ้านก็นำเอาเม็ดพืชพันธุ์ มาบริจาคให้ตามมีตามเกิด
ไม่ช้าไม่นานเขาก็ได้เก็บผักขาย ต่อมาต้นไม้ทั้งเก่าและใหม่ก็ได้ผล หลังจากเขาแต่งงาน กับลูกสาวชาวบ้านหน้าตาหมดจด และขยันขันแข็งแล้ว สองคนผัวหนุ่มเมียสาวก็ช่วยกันทำมาหากิน จนเก็บเงินทองได้ ไม่ลำบากอีกจนตาย
ทั้งลูกชายลูกสะใภ้ ได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้พ่อ เขาเอาตัวรอดได้เพราะตะกรุดของพ่อแท้ๆ เขาจะลืมบุญคุณ และความรักห่วงใย ของพ่ออย่างไรได้