ชื่อ:โจ/กะโจ/กาโจ
ภาค :ภาคใต้
จังหวัด: ชุมพร
ลักษณะความเชื่อ
โจเป็นตัวอย่างของความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ป้องกันปัญหาการ ลักขโมยผลไม้ในสวนเนื่องจากการแขวนโจที่ต้นไม้จะเป็นการบอกให้รู้ว่าได้มีการกำกับคาถาอาคมไว้ หากผู้ใดเก็บผลไม้จากต้นที่มีการแขวนโจไปรับประทาน จะทำให้เจ็บป่วย เกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารในลักษณะต่าง ๆ เช่น ปวดท้อง ท้องบวม ท้องป่อง โดยไม่รู้สาเหตุ และตายในที่สุดจากอิทธิฤทธิ์ของคาถาอาคมที่ลงกำกับไว้ซึ่งมักเป็นภาษาขอมโบราณ ในการทำพิธีกรรมใช้ผ้าขาว ดอกไม้และธูปเทียน ตั้งพิธี บริกรรมคาถาลงอักขระกำกับในของที่ใส่ หลังจากนั้นห้ามเข้าในสวนที่มีโจอยู่ มีกำหนด ๓-๗ วัน
ความสำคัญ
ในอดีตการนำโจไปแขวนตามต้นไม้ที่มีผลไม้รอการเก็บ สามารถลดปัญหาการถูกลอบเก็บผลไม้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวลดลง เนื่องจากกระแสสังคมสมัยใหม่ การใช้โจแขวนตามต้นไม้จึงสามารถ พบเห็นได้เฉพาะในท้องถิ่นห่างไกลบ้างประปราย
พิธีกรรม
โจเป็นวัตถุทางไสยศาสตร์ที่ทำจากวัสดุทรงกระบอก หรือทรงกลมภายในบรรจุด้วยหมากพลู ๓ คำ ห่อด้วยผ้าขาวผูกด้วยผ้าแดง กากบาทด้วยปูนแดงที่ใช้กินหมาก และมีการว่าคาถาอาคมกำกับ นำไปแขวนไว้ตามกิ่งไม้ ของต้นไม้ที่ต้องการ ซึ่งมักมีผลไม้รอการเก็บ เกี่ยวผล เช่น เงาะ มังคุด ส้มโอ ละมุด เป็นต้น หรืออาจนำโจฝังดิน โดยใช้ไม้ปักบนต้น ๓ อัน ใกล้กับพื้นที่หวงห้าม เอาด้ายสีแดงและสีขาวผูกกับต้นไม้แล้วเอาส่วนที่เหลือมาผูกกับ ไม้หลัก ๓ อัน โดยเอาปลายเส้นด้ายทั้งสีแดงและสีขาวฝังดิน
สาระ
การนำโจมาใช้กับสังคมเกษตรกรรม เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ และนำจิตวิทยามาช่วยดูแลรักษาผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในบางพื้นที่ที่สังคมยังไม่รับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากเหมือนสังคมเมือง