ชื่อ:งานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อโสธร
ภาค :ภาคกลาง
จังหวัด :ฉะเชิงเทรา
ช่วงเวลา:
งานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อโสธร จัดขึ้นปีละ ๓ ครั้ง โดยกำหนดวันทางจันทรคติตามลำดับ คือ
๑. งานเทศกาลกลางเดือน ๕ ตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำจนถึงวันแรก ๑ ค่ำ เดือน ๕ รวม ๓ วัน
๒. งานเทศกาลกลางเดือน ๑๒ ระหว่างวันขึ้น ๑๒-๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ รวม ๕ วัน
๓. งานเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันขึ้น ๑-๕ ค่ำ เดือน ๓ รวม ๓ วัน
ความสำคัญ
หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปที่เชื่อถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ จึงมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางไปนมัสการอย่างเนืองแน่นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันเทศกาลสำคัญและงานนักขัตฤกษ์ จะมีผู้มานมัสการจำนวนมากกว่าวันปกติทั่วไป
พิธีกรรม
งานเทศกาลกลางเดือน๕ จัดขึ้นรวม ๓ วัน ๓ คืน นับตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ จนถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ เทศกาลนี้จัดฉลองสมโภชเนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นวันคล้ายวันที่อาราธนาหลวงพ่อขึ้นจากแม่น้ำ แล้วอัญเชิญท่านมาประดิษฐานที่วัดโสธรวรวิหาร
งานเทศกาลกลางเดือน ๑๒ เทศกาลนี้ได้จัดสืบต่อกันมานานกว่าร้อยปีแล้ว คือ เริ่มจัดขึ้นในราว พ.ศ. ๒๔๓๔ โดยมีมูลเหตุมาจากในปีนั้นประชาชนในท้องถิ่นประสบทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง ทำการเพาะปลูกไม่ได้ผล ทั้งยังเกิดโรคอหิวาต์และฝีดาษระบาดทั่วไป ทำให้ผู้คนและสัตว์เลี้ยงล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงคราวเข้าตาจนเช่นนี้ชาวบ้านต่างพากันบนบานศาลกล่าวต่อหลวงพ่อให้ช่วยขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยเหล่านี้ ด้วยการปิดทองบ้าง ด้วยมหรสพสมโภชบ้าง และด้วยสิ่งอื่น ๆ กล่าวกันว่าความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่บันดาลให้เกิดฝนโปรยปรายลงมา ทำให้แผ่นดินชุ่มชื้น โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ หายเป็นปลิดทิ้ง ชาวบ้านจึงร่วมใจกันจัดงานฉลองสมโภชหลวงพ่อครั้งใหญ่เพื่อแก้บน
แต่เดิมงานเทศกาลในเดือนนี้มี ๓ วัน คือ วันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้จัดเพิ่มขึ้นอีก ๒ วัน คือ วันขึ้น ๑๒-๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒รวมทั้งสิ้นเป็น ๕ วัน และถือปฏิบัติสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำจะมีการแห่หลวงพ่อทางบก วันขึ้น ๑๕ ค่ำ มีการแห่ทางน้ำ และวันแรม ๑ ค่ำ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายมีการเวียนเทียนและสรงน้ำพระ
งานเทศกาลตรุษจีน จัดตามจันทรคติของจีน คือ ตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ ปีใหม่ (ชิวอิด) ไปจนถึงวันขึ้น ๕ ค่ำ (ชิวโหงว) รวม ๕ วัน ๕ คืน ถ้าเทียบเป็นเดือนไทยก็คือ ราวเดือนยี่หรือเดือนสาม
สาระ
การจัดงานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อโสธรนับเป็นกุศโลบายอันแยบยล ที่ดึงพุทธศาสนิกชนให้เข้าวัดผ่อนคลายภารกิจในชีวิตประจำวัน เพื่อกราบไหว้บูชาองค์หลวงพ่อซึ่งเปรียบได้ดังตัวแทนของพุทธองค์ และให้ระลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนที่ให้เว้นความชั่วให้ทำแต่ความดี อันส่งผลให้การดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข โดยมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตใจ