๒๐
แล้วพระเจ้าตริวิกรมเสนก็จำพระทัยเสด็จกลับไปยังต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง นำตัวเวตาลขึ้นวางไว้บนพระอังสา แล้วพากลับไป ทรงรักษาความเงียบไว้อย่างดี ไม่ตรัสอะไรเลย เวตาลก็ไม่ยอมแพ้ กล่าวกระตุ้นขึ้นว่า “ราชะ ไฉนจึงนิ่งเฉย ฉะนี้ ราตรียังอยู่อีกยาวนาน จะรีบร้อนแบกข้าไปให้เจ้าโยคีทุศีลนั่นทำไมกัน เอาเถอะถ้ายังทรงดึงดันอยู่อีกก็ตามใจสิ แต่ลองฟังนิทานสนุก ๆ ของข้าสักเรื่องมิดีกว่าหรือ”
แต่โบราณมีนครแห่งหนึ่งชื่อ จิตรกูฏ เป็นชื่อที่ไพเราะเหมาะสมชื่อหนึ่ง นครนี้ไม่มีการแบ่งแยกถือผิวถือวรรณะอะไรทั้งสิ้น มีพระราชาองค์หนึ่งปกครองแว่นแคว้นอยู่ ทรงพระนามว่า จันทราวโลก ผู้เป็นประดุจยอดมงกฎแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย พระองค์ทรงหลั่งสายธารแห่งอมฤต คือความเมตตาปรานีแก่ทวยนาครของพระองค์โดยทั่วหน้า นักปราชญ์ทั้งหลายพากันถวายคำสรรเสริญสดุดีพระองค์ว่า ทรงหนักแน่นมั่นคงในความกล้าหาญเหมือนสาตะลุงที่ผูกช้าง เป็นผู้มีพระทัยกว้างขวางที่สุด และเป็นพลับพลาแห่งความรื่นรมย์และเป็นสัญลักษณ์แห่งความงามบนพื้นพิภพ อย่างไรก็ดี พระราชาก็ยังมีความระทมทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ในพระทัย นั่นก็คือ ถึงแม้จะทรงมั่งคั่งในธนสารสมบัติอันมโหฬาร และมีอานุภาพอันเต็มเปี่ยมอย่างนี้ก็จริง พระองค์ก็ยังขาดอยู่อย่างหนึ่ง คือชายาอันเหมาะสมจะเคียงคู่พระองค์ในราไชศวรรย์นี้
วันหนึ่งพระเจ้าแผ่นดิน ทรงม้าพระที่นั่งแวดล้อมข้าราชบริพารออกไปประพาสป่าใหญ่เพื่อทรงล่าสัตว์ เพื่อให้หายกลุ้มพระทัย พระองค์ทรงเป็นผู้สามารถในการายิงธนูเป็นสายติดต่อกันจากแล่ง ถูกเป้าหมายคือฝูงหมาป่าอย่างแม่นยำเหนือกว่าพระอรชุน (พระอรชุน กษัตริย์ปาณฑพองค์ที่ ๓ ในเรื่องมหาภารตะ เป็นโอรสของพระอินทร์กับนางกุนตี มเหสีของพระเจ้าปาณฑแห่งจันทรวงศ์ เจ้าชายอรชุนเป็นยอดนักรบซึ่งมีฝีมือเป็นเยี่ยม หาใครเสมอมิได้) ผู้ทรงพลัง และทรงสามารถพิชิตราชสีห์ผู้แกล้วกล้าด้วยฝีพระหัตถ์ในการยิงธนู ทำให้มันล้มลมบนเตียงแห่งลูกธนู (เตียงแห่งลูกธนู หมายถึง เจ้าชายภีษมะผู้เฒ่าในเรื่องมหาภารตะ ถูกพระอรชุนผู้เป็นหลานยิงด้วยลูกธนูในสงครามมหาภารตะนั้น ลูกธนูได้เสียบร่างของภีษมะเต็มไปหมด หาช่องว่างมิได้ เจ้าชายก็ล้มลงกลางสมรภูมิบนลูกศรทั้งหลายที่เสียบร่างจนกลายเป็นเตียงในสนามรบ และเจ้าชายภีษมะนอนนิ่งอยู่บนเตียงลูกศรนั้นจนสิ้นมหาสงคราม) อันเสียบโดยรอบจนแทบจะหาที่ว่างมิได้ ทรงมีกำลังกายอันทรงสมรรถนะเหมือนดังพระอินทร์ (ทรงสมรรถนะเหมือนดังพระอินทร์ พระอินทร์ตามเรื่องในสมัยพระเวท มีลักษณะต่างกับพระอินทร์ในยุคหลัง เพราะสมัยพระเวทนั้นพระอินทร์เป็นจอมทัพของเหล่าเทวดา มีรูปร่างอ้วนใหญ่ทรงพลังไม่มีใครเสมอเหมือน มิใช่เป็นบุรุษแน่งน้อยงดงามอย่างที่ปรากฎในสมัยหลัง ๆ นี้) ในการตัดปีกภูเขาทั้งหลาย มีภูเขาศรภะเป็นต้น (ตัดปีกภูเขาทั้งหลาย ในวรรณคดีสันสกฤตยุคพระเวท ภูเขาทั้งหลายยังมีปีกสามารถบินไปไหนมาไหนได้ พระอินทร์จึงเอาวัชระตัดปีของภูเขาเสีย ทำให้ภูเขาหมดฤทธิ์ที่จะเคลื่อนไหวได้อีก) ให้ขาดกระเด็นด้วยโตมรอันคมแข็งดังวัชรายุธ ระหว่างที่ทรงขับม้าเลียบไปตามชายป่านั้น พระราชาเกิดความปรารถนาอย่างเร้นลับในพระทัย อยากจะแยกทางจากบริวารเข้าไปให้ถึงใจกลางแห่งมหาพนป่าใหญ่นั้น ซึ่งเป็นที่อันไกลสุดกู่และไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในฉับพลันพระราชาก็ทรงกระตุ้นสีข้างม้าอย่างแรงพร้อมกับหวดควับด้วยแซ่ ทำให้มันแผ่นโผนโจนทะยานพุ่งไปอย่างสุดฤทธิ์ พาพระราชาเตลิดเข้าไปในป่าทึบ แยกจากเหล่าข้าราชบริพารซึ่งขับตามมาไม่ทัน ม้าพระที่นั่งวิ่งเร็วดังลมพัด ชั่วเวลาเพียงครู่เดียวก็มาไกลถึงสิบโยชน์
เมื่อมาถึงที่นั้นม้าก็หยุดลง พระราชาทรงเหน็ดเหนื่อยอิดโรยเต็มที ทรงลงจากหลังม้าพระที่นั่ง แล้วดำเนินดูโดยรอบบริเวณก็แลเห็นทะเลสาบใหญ่อยู่ไม่ไกลจากที่นั้น มีกอบัวไกลลิบ ๆ อยู่ปริ่มน้ำ ซึ่งเมื่อลมพัดผิวน้ำเป็นคลื่นน้อย ๆ ทยอยเข้าสู่ฝั่งก็ดูกระเพื่อมเหมือนดั่งจะชวนเชิญให้พระองค์เสด็จเข้าไปใกล้ พระราชาจูงม้ามาริมน้ำ ปลดบังเหียนและอานม้าที่ผูกมันออก ปล่อยมันลงไปอาบน้ำ เสร็จแล้วทรงจูงมันไปผูกไว้กับต้นไม้ที่ให้ที่ให้ร่มเงาต้นหนึ่ง หลังจากนั้นพระราชาทรงสรงสนานด้วยความเบิกบานพระทัย และเสวยน้ำจนสิ้นความกระหาย ทำให้คลายจากความอิดโรยเป็นอันมาก ทรงนั่งพักอยู่สักครู่และทอดพระเนตรดูภูมิทัศน์โดยรอบทะเลสาบ และแลเห็นว่าริมทะเลสาบด้านหนึ่งมีต้นอโศกขึ้นอยู่ต้นหนึ่งแผ่กิ่งก้านสาขาไปโดยรอบ ที่โคนต้นอโศกนั้นมีหญิงสาวกลุ่มหนึ่งชุมนุมกันอยู่ นางที่ดูเป็นหัวหน้านั้นมีรูปลักษณ์งามบาดใจยิ่งนัก นางสวมมาลาดอกไม้เป็นเครื่องประดับศีรษะ และนุ่งห่มด้วยผ้าเปลือกไม้ ซึ่งบอกให้รู้วานางเป็นลูกสาวคนหนึ่งของฤษี นางดูอ่อนวัย และมีเสน่ห์ตลอดเรือนร่าง ผมดำขลับของนางถูกเกล้าเป็นมวย (เมาลี) ตามแบบของดาบสินี (นางดาบส) โดยทั่วไป
ฝ่ายพระราชา เมื่อเห็นนางเพียงครั้งแรกก็ถูกศรรักระดมยิงหฤทัยราวห่าฝน มีความหลงใหลเพ้อพกถึงกับตรัสแก่พระองค์เองด้วยความรัญจวนว่า “นางเป็นใครกันหนอ หรือว่านางคือพระเทวีสาวิตรี (เทวีสาวิตรี เทวีแห่งอักษรศาสตร์และศิลปศาสตร์ เป็นชายาของพระพรหม เรียกกันว่าสาวิตรี หรือพรหมี ทรงถือพิณและมีนกยูงเป็นพาหนะ) เสด็จลงมาประทับสระสนานที่ทะเลสาบแห่งนี้ ถ้ามิใช่ นางคือพระเคารีเทวีพลัดจากอ้อมพระกรของพระศิวะลงมาบนแดนดิน และกลับคืนเป็นหญิงชาวเขา (ปารวตี) เพื่อบำเพ็ญพรตตามเดิม (หญิงชาวเขา (ปารวตี หรือบรรพตี) หมายถึงพระอุมาผู้เป็นชายาของพระศิวะ (อิศวร) นางได้ชื่อว่าหญิงชาวเขาเพราะนางเป็นธิดาของพระหิมวัต (ภูเขาหิมาลัย) และเป็นน้องสาวของพระคงคาด้วย นางปารวตีหลังจากที่พระศิวะเริ่มรักนางอันเป็นผลของศรกามเทพแล้วเสด็จหนีไป นางได้ไปบำเพ็ญพรตอย่างอุตกฤษเป็นเวลาช้านาน พระศิวะจึงได้กลับมาและให้นางเป็นชายาของพระองค์ในที่สุด) หรือว่านางคือนางงามอันเกิดจารัศมีพระจันทร์ (นางอันเกิดจากรัศมีพระจันทร์ คือนางมาริษาเทวี ซึ่งเกิดจากนางอัปสรชื่อ ปรัมโลจา โดยนางอัปสรวิ่งหนีจากอาศรมของฤษีกัณฑุด้วยความเกรงกลัว ขณะที่นางเหาะไปนางสะบัดเหงื่อของนางกระเด็นไปติดบนกิ่งไม้ในป่า ตอนกลางคืนพระจันทร์ขึ้นสู่ขอบฟ้า แสงพระจันทร์ส่องไปกระทบหยาดเหงื่อบนใบไม้ทำให้กลายเป็นเด็กผู้หญิงรูปร่างสวยงาม นางได้รับนามว่ามาริษาเทวี) และกำลังบำเพ็ญตบะอยู่ เพราะฉะนั้นข้าควรจะทำความรู้จักนางอย่างเงียบ ๆ และค้นหาความจริงให้รู้ให้ได้ ตรึกได้ดังนั้นแล้ว พระราชาก็เสด็จเข้าไปใกล้นาง
แต่เมื่อนางเห็นพระองค์เดินเข้ามาหา นัยน์ตานางก็เบิกกว้างด้วยความประหลาดใจที่ได้เห็นความงามของพระราชา มือที่กำลังร้อยมาลาก็ตกลงโดยไม่รู้สึกตัว รำพึงว่า “เขาคือใครหนอที่อุตส่าห์ดั้นด้นมาถึงนี่ได้ เขาคือสิทธะ หรือเป็นวิทยาธรกันแน่ จะว่าไป เขาก็เป็นคนรูปงามนักหนา สมควรที่จะอวดคนได้ทั่วโลก” เมื่อนางคิดดังนี้ก็ค่อยลุกขึ้น เหลือบตาดูชายหนุ่มด้วยความสะเทิ้นอายแล้วเดินจากไป หัวใจของนางร้อนรุ่มไปหมด และขาก็พาลจะหมดเรี่ยวแรงที่จะก้าวต่อไปอีกด้วย
พระราชาหนุ่มผู้สุภาพอ่อนโยนและมีความอุตสาหะ จึงเสด็จเข้าไปใกล้นาง และตรัสว่า “แม่รูปงาม ข้าจะไม่ถามเจ้าละว่าเจ้าเป็นใคร จึงไม่รู้จักมาต้อนรับข้าผู้มาจากแดนไกลแะละเพิ่งพบเจ้าเป็นครั้งแรก ข้ามีไมตรีอันดีต่อเจ้า ข้าไม่ได้หวังผลอะไรจากเจ้าหรอก เพียงแต่อยากเห็นเจ้าให้เต็มตาเท่านั้นแหละ เจ้าจะหนีข้าไปไยเล่า หรือว่าเพราะเจ้าเป็นนางดาบส เจ้าจึงจำต้องประพฤติอย่างเคร่งครัดไม่ยอมพบผู้ชายง่าย ๆ” เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ นางก็จำต้องนั่งลงท่ามกลางบริวารของนางด้วยอาการประหม่าขวยเขิน และกล่าวต้อนรับพระราชาด้วยเสียงอันเบาแผ่ว
ดังนั้นพระราชาก็กล่าวแก่เธอด้วยความพิศวาส และอ่อนโยนว่า “ดูก่อนภัฏฏินี (ภัฏฏินี นางผู้เจริญ, หญิงผู้ดี) เจ้าเป็นศรีแห่งสกุลใดอันเป็นที่ยกย่องนับถือของสหายของเจ้า และทำไมเจ้าจึงต้องมาทนระกำลำบากอยู่ในวนาลัยนี้ เพื่อรับใช้เหล่ามุนีทั้งปวง และเจ้ามีนามว่าอะไรเล่า” เมื่อนางพี่เลี้ยงของนางได้ยินพระราชาตรัสดังนั้นก็อธิบายว่า “สาวงามผู้นี้เป็นธิดาของพระมหาฤษีกัณวะ แม่นางชื่อเมนกา เป็นนางอัปสร ผู้มีนามอันเบื่องลือตลอดสามโลก ส่วนลูกสาวของนางได้รับการเลี้ยงดูและอบรมมาในหมู่ฤษีเหล่านั้น และได้รับนามว่า อินทีวรประภา (อินทีวรประภา ชื่อของหญิงงามผู้หนึ่งรู้จักกันในนามของนางศกุนตลา ลูกบุญธรรมของฤษีกัณวะ ต่อมาได้เป็นมเหสีของท้าวทุษยันต์ (จันทราวโลก) มีโอรสด้วยกันองค์หนึ่ง ชื่อพระภรต ได้เป็นจักรพรรดิเจ้าโลก และเป็นต้นกำเนิดของชาวอินเดียทั้งมวลซึ่งเรียกตนเองว่า “ภารตะ” แปลว่า “ลูกหลานของพระภรต”) นางมาอาบน้ำในสระวันนี้ โดยได้รับอนุญาตจากบิดาของนาง และอาศรมของพระมุนีก็อยู่ไม่ไกลจากที่นี่นัก”
เมื่อนางพี่เลี้ยงกราบทูลดังนี้ พระราชาก็ดีพระทัย เสด็จขึ้นม้าพระที่นั่งวิ่งตรงไปยังอาศรมของพระกัณวมุนี ด้วยความประสงค์จะถามเรื่องบุตรสาวของท่านให้รู้โดยแจ้งชัด เมื่อมาถึง พระราชาลงจากม้า ปล่อยไว้ในที่ใกล้แล้วเข้าไปสู่อาศรมพระดาบสด้วยความนอบน้อม พระกัณวะนั่งอยู่บน่อาสนะตรงกลางแวดล้อมด้วยเหล่าฤษีบริวารเป็นอันมาก เรือนร่างของพระมหามุนีเปล่งแสงสุกสว่างเหมือนดวงเดือนอันแจ่มกระจ่างท่ามกลางดาวฤกษ์ทั้งหลาย ดังนั้นพระราชาจึงตรงเข้าไปนมัสการและกอดเท้าพระมหาชฏิลไว้ด้วยความเคารพ พระมุนีผู้ฉลาดก็ให้การต้อนรับพระราชาเป็นอย่างดี ทำให้ความเหน็ดเหนื่อยของพระราชาหายไป และโดยไม่ยอมให้เสียเวลา พระมุนีก็กล่าวแก่พระราชาว่า “จันทราวโลกลูกเอ๋ย จงตั้งใจฟังคำแนะนำที่ข้าจะสั่งแก่เจ้าให้ดี ๆ นะ เจ้าก็รู้มิใช่หรือ ขึ้นชื่อว่า สัตว์โลกย่อมรักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น เหตุใดเจ้าจึงฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เช่นฆ่ากวางที่น่าสงสารโดยไม่มีสาเหตุ พระเป็นเจ้าทรงกำหนดให้อาวุธของนักรบให้มีไว้เพื่อป้องกันผู้อ่อนแอมิใช่หรือ ดังนั้นจกปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยความเป็นธรรม กำจัดศัตรูทังปวงที่มาย่ำยีแว่นแคว้น จงรักษาทรัพย์สินของราษฎรอย่าให้เป็นอันตรายด้วยกำลังทหารช้าง ทหารม้า และอื่น ๆ จงมีความยินดีในการปกครอง ให้ทานและประกาศเกียรติคุณให้ตลอดทั่วโลก แต่เจ้าควรเลิกการล่าสัตว์อันเป็นบาปกรรมเสีย จะมีประโยชน์อะไรกับการไล่ล่าประหัตประหารสัตว์ป่า ทั้งที่สัตว์ป่าก็ดี ผู้ที่ล่ามันก็ดี หรือแม้แต่สัตว์พาหนะ สัตว์ใช้งานทั้งหลายก็ดี ทั้งหมดนี้มีชีวิตเป็นที่รักของตนเองทั้งสิ้น บรรดาสัตว์ทังหลายที่เกิดมาในโลกล้วนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากันทั้งสิ้น เจ้าไม่เคยได้รู้ได้ยิน เรื่องราวของพระเจ้าปาณฑุ (ผู้มีผิวขาวซีด เป็นชื่อของกษัตริย์จันทรวงศ์องค์หนึ่ง) เลยหรือ”
พระราชาผู้มีปัญญาเลิศ (พระเจ้าจันทราวโลก) ได้ฟังก็มีพระทัยยินดี ทรงรับอนุศาสน์จากรพะฤษีกัณวะด้วยพระทัยแช่มชื่น และกล่าวด้วยความเคารพว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้า ข้าได้รับการสั่งสอนจากพระคุณท่าน ข้ารู้สึกซาบซึ้งยิ่งนัก จะปฏิบัติตามโอวาทของท่านทุกอย่าง ข้าขอประกาศไว้ ณ ที่นี้ ว่า ข้าจะเลิกล่าสัตว์อันเป็นบาปกรรมนี้เสียตั้งแต่บัดนี้ เพื่อให้สัตว์มีชีวิตด้วยความผาสุก ไม่ต้องหวาด หวั่นต่ออันตรายอีกต่อไป” เมื่อพระมุนีได้ฟังก็ยินดีเป็นอันมาก กล่าวอนุโมทนา “ข้ายินดีด้วยกับเจ้าที่เจ้าให้อภัยต่อสัตว์ทั้งหลาย ไม่ก่อเวรต่อไป ดังนั้นข้าจะให้พรแก่เจ้า เจ้าประสงค์สิ่งใดก็จงขอมาเถิด” เมื่อพระมุนีกล่าวดังนี้ พระราชาก็พอพระทัยมาก รีบสนองตอบทันทีว่า “ถ้าพระคุณเจ้าจะเมตตาต่อข้าจริง ๆ แล้ว ข้าขอนางอนทีวรประภาธิดาของท่านเพียงอย่างเดียว” เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ พระมหาฤษีก็ยกนางให้ตามปรารถนา ในขณะที่นางโสรสรงเสร็จมาใหม่ ๆ และทำพิธีแต่งงานอันศักดิ์สิทธิ์แก่บุคคลทั้งสอง ในขณะที่นางชายาทั้งหลายของพระมุนี ต่างก็แสดงความยินดีและอวยชัยให้พรแก่เจ้าบ่าวเจ้าสาวโดยพร้อมเพรียงกัน แล้วพระราชาจันทราวโลกก็อุ้มนางอัปสรธิดาขึ้นนั่งบนหลังม้าพระที่นั่ง เสด็จออกจากพระอาศรม มีเหล่าฤษีดาบสตามมาส่งจนลับตา เมื่พระราชาเสด็จไปตามทางนั้น ดวงสูรยะเพิ่งคล้อยต่ำลงสู่ยอดเขาและลับดวงไปในมิช้า เวลาย่ำค่ำเริ่มต้นด้วยนางอัปสรราตรีผู้มีนัยน์ตาดังมฤคเนตร เริ่มปรากฎตัวด้วยเรือนร่างอันงาม มีพัสตราภรณ์สีม่วงเป็นเครื่องนุ่งห่มเหมือนสีแห่งราตรี
ในขณะนั้น พระราชาอุ้มนางเสด็จไปตามทาง ทรงแลเห็นต้นอัศวัตถะ (บาลีเรียก อัสสัตถะ หมายถึง ต้นโพ) ขึ้นอยู่ริมทะเลสาบ อันมีน้ำใส่บริสุทธิ์เฉกเช่นน้ำใจของสัตบุรุษ และทรงเห็นว่าสถานที่นั้นเป็นที่ร่มรื่นไม้ใบบังเป็นที่ร่มเย็น มีเนินหญ้านุ่มนิ่มน่านั่งนอน จึงตกลงพระทัยว่าจะหยุดพักแรมที่นั่น ดังนั้นจึงเสด็จลงจากม้า ให้มันกินหญ้ากินน้ำ เสร็จแล้วพระราชาก็เอนองค์ลงบรรทมบนผืนทรายอันละเอียดอ่อน หลังจากที่เสวยน้ำแล้ว และนอนผึ่งลมอันเย็นและลูบไล้พระกายด้วยความอ่อนโยน ยามรำเพยพลิ้วแผ่วมาเป็นระยะตลอดราตรี พระราชาบรรทมด้วยนางผู้เป็นที่รักอย่างแสนสุข ขณะนั้นดวงศศีก็ค่อยปรากฎบนท้องฟ้า ฉายแสงสีขาวนวลละไมแผ่ไปในฟากฟ้า ขับไล่ความมืดของราตรีให้เจือจางลง
เมื่อถึงเวลาเช้าตรู่ พระราชาบรรทมตื่นขึ้นพอดีแสงสุวรรณารุณฉายจับขอบฟ้า ทรงสวดบูชาสูรยะตามประเพณี แล้วลงสรงสนานในทะเลสาบ จากนั้นก็เตรียมเดินทางต่อ ขณะนั้นเองก็แลเห็นพราหมณาสูรตนหนึ่ง ดำราวกับถ่านผมเหลืองเหมือนสายฟ้า รวมกันเข้าแล้วก็เหมือนกับสายฟ้าในเมฆมืด อสูรตนนี้สวมศิรมาลา มีสายยัชโญปวีตเฉวียงบ่า (ยัชโญปวีต เส้นดายดิบถักเป็นเส้นสังวาลใช้สวมเฉวียงบ่า เป็นสัญลักษณ์ของพวกพราหมณ์บางทีเรียก สายธุรำมงคล) มันกำลังแทะเศีรษะคนที่ตกอยู่ในมือมัน โดยกัดกระชากเนื้อบนศีรษะ และดื่มโลหิตจากกะโหลกนั้น พรหมณ์ปีศาจผู้มีเขี้ยวเง้งแสยะน่าสยดสยอง มันอ้าปากกว้างและหัวเราะด้วยเสียงอันชวนให้ขนหัวลุก และพ่นเปลวไฟพิโรธออกจากปากของมัน แล้วคำรามคุกคามพระราชาว่า “อ้ายคนสาระเลว จงรู้เอาไว้ว่า กูนี่แหละเป็นพรหมณ์อสูรชื่อ ชวาลามุข และต้นอัศวัตถะต้นนี้ก็เป็นที่อาศัยของกู ไม่เคยมีใครบุกรุกเข้ามาที่นี่ไม่ว่ามันจะเป็นหน้าอินทร์หน้าพรหมคนไหน แต่มึงอวดดีบุกเข้ามานอนที่นี่พร้อมกับเมียของมึง กูท่องเที่ยวไปตามความพอใจของกูตลอดคืน พอกลับมาก็เห็นมึงนอนอยู่ที่นี่แล้ว เพราะฉะนั้นจงเตรียมตัวรับโทษเถอะ แน่ะ อ้ายคนชั่ว ฟังให้ดี กูจะฉีกเนื้อของมึงเป็นชิ้น ๆ แล้วจะกินหัวใจของมึงให้สาสมกับความทะลึ่งทะเล่อทะล่าเข้ามาในที่ของกู จากนั้นกูจะดื่มเลือดสด ๆ ของมึงเสีย”
เมื่อพระราชาได้ทรงฟังวาจาคุกคามของอสูรเช่นนั้น ประกอบกับได้เห็นนางผู้เป็นชายาตกใจจนขวัญหนีดีฝ่อ และทรงรู้ดีว่าไม่มีทางสู้มันได้ จึงพูดกับมันด้วยความสะทกสะท้านว่า “ข้าขออภัยอย่างยิ่งในการที่โง่เชลาไม่รู้จักกาลอันควรและไม่ควร แต่ข้าเข้ามาที่นี้ก็เพราะว่าต้องการขอความกรุณาขออาศัยแรมคืนเพียงชั่วคืนเดียว รุ่งเช้าข้าก็จะไป ไม่มีเจตนาจะบุกรุกที่ของท่านหามิได้ และเพื่อเป็นการตอบแทนท่าน ข้าจะให้สิ่งอันท่านปรารถนา โดยจะส่งมนุษย์ผู้มีเนื้ออันหอมหวานมาให้แก่ท่าน ท่านจะได้กินอย่างเอร็ดอร่อย และหายโกรธข้ากับเมียลงบ้าง” เมื่ออสูรพราหมณ์ได้ฟังดังนั้นก็คลายความโกรธลง และพูดกับตัวเองว่า “ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ใช้ได้” หลังจากนั้นก็กล่าวแก่พระราชาว่า “ข้าจะอดโทษที่เจ้าดูหมิ่นข้าไว้สักครั้ง แต่เจ้าจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้าคือ เจ้าจะต้องหาเด็กพราหมณ์มาให้แก่ข้าคนหนึ่ง ถึงแม้จะอายุถึงเจ็ดขวบก็ยังใช้ได้ แต่ขอให้เป็นเด็กฉลาด มีตระกูลผู้ดี และพร้อมที่จะสละตนเพื่อเห็นแก่เจ้า ให้พ่อและแม่ของเด็กวางลูกลงบนพื้นดิน จับแขนขับขาไว้ให้แน่นระหว่างที่กำลังทำพิธีสังเวยอยู่ และจำไว้ว่า ถ้าเจ้าหาเหยื่อตามที่ว่านั้นได้ เจ้าจะต้องเป็นผู้สังหารเด็กนั้นด้วยการฟันเพียงฉับเดียว แล้วนำร่างเด็กคนนั้นมาให้ข้าในวันที่ ๗ หลังจากนั้น แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ โอ ราชะ ข้าจะฆ่าเจ้าเสียและทำลายราชสำนักของเจ้าให้สิ้นสูญภายในชั่วพริบตาเดียว” เมื่อพระราชาได้ฟังก็ตกพระทัยอย่างยิ่ง รีบตอบตกลงตามข้อเสนอทุกประการ ทันใดนั้นอสูรพราหมณ์ก็หายวับไปทันที
ฝ่ายพระราชาจันทราวโลก เมื่ออสูรหายไปแล้วก็เสด็จขึ้นหลังม้าพร้อมด้วยพระชายาอินทีวรประภา เที่ยวติดตามหาทหารผู้เป็นบริวารซึ่งพลัดพรากกันในวันประพาสล่าสัตว์ ด้วยพระหฤทัยอันเศร้าหมองและเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เมื่อขับม้ามาตามทางทรงรำพึงว่า “อนิจจาเอ๋ย เพราะการล่าสัตว์กับความรักทำให้ข้าหลงไป จึงต้องมาประสบความฉิบหายเหมือนอย่างกษัตริย์ปาณฑพ (เจ้าชายปาณฑพ เจ้าชาย ๕ องค์ โอรสของพระเจ้าปาณฑุกับนางกุนตี (สามองค์แรก) และองค์ที่ ๔, ๕ เป็นโอรสฝาแฝดเกิดจากนางมาทวีผู้เป็นมเหสีองค์ที่ ๒ เจ้าชายปาณฑพเล่นการพนันจนหมดตัว ถูกขับไล่ไปเดินป่า ๑๒ ปี) แท้เทียว ช่างโง่เขลานี่กระไร ข้าจะมีปัญญาไปหาเหยื่อมาให้รากษสได้ที่ไหน และต้องทำตามอย่างที่มันบรรยายเอาไว้ด้วย ฉะนั้นในระหว่างนี้ข้าควรจะกลับบ้านเมืองก่อนดีกว่า จะคอยดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น” ขณะที่ทรงรำพึงอยู่ก็พอดีกองทหารที่ติดตามหาพระองค์ติดตามมาทัน ดังนั้นทั้งหมดจึงเดินทางกลับพระนครจิตรกูฏ ทำให้ราษฎรทั้งหลายมีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่าพระราชาของตนได้พระชายาแล้ว แต่พระราชานั้นหาได้มีความสุขในพระทัยไม่ ทรงครุ่นคิดถึงเรื่องที่จะบังเกิดต่อไปด้วยความหดหู่พระทัยอยู่มิวาย
วันรุ่งขึ้น พระราชาทรงเรียกเหล่ามนตรีเข้ามาปรึกษาหารือเป็นความลับ ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแก่พระองค์ในป่า มนตรีที่ไว้ในได้ผู้หนึ่งจึงกราบทูล่า “ข้าแต่มหาราช ขออย่าได้ทรงกังวลพระทัยเลย ข้าขอรับอาสาเป็นผู้สืบหาเด็กดังกล่าวมาถวายแด่พระองค์เอง เรื่องแปลก ๆ ในโลกอย่างนี้คงจะหาไม่ยากนัก”
เมื่อมนตรีได้ปลอบโยนพระราชาของตนแล้ว ก็เร่งรีบกระทำการตามแผนของตนอย่างรวดเร็วที่สุดคือ ให้นายช่างหล่อรูปเด็กเจ็ดขวบด้วยทองคำ แล้วประดับหูทั้งสองด้วยกุณฑลเพชร ต่อจากนั้นเอารูปปฏิมาลงวางในเกวียน แล้วขับลากไปในเมืองต่าง ๆ ตามหมู่บ้านทั้งหลาย และที่ชุมชนของคนเลี้ยงสัตว์ ในระหว่างทางที่เกวียนของรูปปฏิมาแล่นไปนั้น มนตรีก็ป่าวประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกข้างหน้ารูปปฏิมา พร้อมกับตีกลองไปข้างหน้าว่า “เจ้าข้าเอ๊ย บ้านนี้และช่องนี้ ใครมีเด็กพราหมณ์อายุ ๗ ขวบ และเต็มใจจะเสนอตัวเองให้เป็นพลีแก่พรหมณ์อสูร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคนก็ให้บอกมาด้วย และถ้าพ่อแม่ของเด็กจะมอบเด็กให้เป็นพลี โดยยึดเท้ายึดมือให้แน่นในระหว่างการฆ่าเด็กแล้วไซร้ พระราชาจะให้ค่าตอบแทนสำหรับเด็กนั้น ผู้ซึ่งเห็นแก่ความอนุเคราะห์พ่อแม่ด้วยความกตัญญู โดยยกรูปหล่อทองคำประดับเพชรพลอยรูปนี้ให้เป็นรางวัล พร้อมกับส่วยอีกหนึ่งร้อยหมู่บ้าน
ปรากฎว่าในละแวกนั้น มีเด็กพราหมณ์คนหนึ่งอายุ ๗ ขวบ ดำรงชีพอยู่ด้วยเงินอุปการะทีพระราชาทรงเลี้ยงดูแก่พราหมณ์ เด็กผู้นี้เป็นผู้กล้าหาญอย่างยอดยิ่ง และมีกิริยามารยาทอันน่าชม เมื่อได้ยินการตีฆ้องร้องป่าวดังนั้น เด็กผู้นี้ถึงจะเป็นผู้มีอายุน้อย แต่ก็เฉลียวฉลาด มีคุณธรรมดีงาม อันได้สะสมมาแต่ชาติก่อน และเป็นผู้ที่จะยังพระราชาให้สำเร็จประโยชน์ในชาตินี้ เขาจึงก้าวออกมาพูดกับผู้ป่าวประกาศว่า “ข้ายินดีสละตัวข้าเองเป็นพลีแก่พระราชาด้วยความเต็มใจ ข้าจะกลับไปแจ้งเรื่องแก่พ่อแม่ของข้า แล้วจะกลับมาหาเจ้า” เมื่อเด็กน้อยกล่าวดังนี้ ผู้ประกาศก็ดีใจมาก และให้เด็กกลับไปบ้าน เด็กน้อยกลับไปบ้านก็กระทำความเคารพอย่างนอบน้อมต่อบิดามารดาของตน และกล่าวว่า “ลูกจะพลีตัวเองเพื่อประโยชน์สุขแก่คนทั้งหลายด้วยร่างกาย อันจะมีแต่ความผุพังเปื่อยเน่าร่างนี้ โปรดอนุญาตลูกเถิด ขอให้ลูกได้ยุติความยากจนของพ่อแม่ เพราะถ้าลูกไปพลีชีวิตต่อพระราชา พระองค์จะพระราชาทานรูปหล่อทองคำให้แก่ลูก และยังแถมด้วยส่วยอีกร้อยหมู่บ้าน เมื่อลูกได้รับพระราชทานมาแล้ว ลูกจะยกให้พ่อแม่ทั้งหมด ด้วยประการฉะนี้ ลูกจักได้ชื่อว่าทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูลูกมา ความยากจนของเราก็จะได้สิ้นสุดลงเสียที และพ่อแม่ก็ยังจะมีลูกอีกหลายคนมาแทนลูกคนนี้”
พอได้ฟังลูกชายกล่าวดังนั้น พ่อและแม่ก็พูดว่า “เจ้าพูดอะไรอย่างนั้นเล่าลูก เจ้าปั่นป่วนเพราะลมพัดจนหัวหมุนหรือไร หรือว่าเจ้าถูกดาววิ่งมาชนกระนั้นหรือ ถ้าเจ้าไม่ได้เป็นสองประการนี้ เจ้าจะพูดบ้า ๆ อย่างนี้ได้อย่างไร มีมนุษย์ที่ไหนเขายอมแลกชีวิตลูกชายกับทรัพย์สมบัติบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสมบัติมหาศาลปานใด มีตัวอย่างที่ไหนที่ลูกมาขอให้เขาเอาตัวไปเป็นพลี” เมื่อบุตรชายได้ฟังบิดามารดาดังนั้นก็อธิบายว่า “ลูกไม่ได้พูดเพราะสติเลอะเลือนแต่อย่างใดหรอก ฟังลูกพูดสักนิด ก็ร่างกายของคนเรานี้ล้วนเป็นสิ่งไม่บริสุทธิ์ มีความน่าเกลียดจนเหลือที่จะบรรยายได้หมดสิ้น น่าเกลียดน่าชังมาตั้งแต่เกิด เป็นรังแห่งความทุกข์ อยู่ไม่นานก็จะพินาศฉิบหาย ดังนั้นนักปราชญ์จึงกล่าวว่า “สาระที่แกร่งและสถาวรที่สุดในสังสารภพนี้ก็คือบุณย์ ซึ่งร่างอันหาค่ามิได้นี้เป็นผู้สร้างขึ้น และบุณย์ใดเล่าจะประเสริฐเลิศล้ำยิ่งไปกว่าการทำประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์โดยทั่วหน้า ดังนั้นถ้าข้าไม่แสดงความเสียสละดังกล่าวนี้แก่พ่อแม่ ผลบุญอื่นใดเล่าที่ข้าจะได้รับจากร่างกายนี้” ด้วยถ้อยคำเหล่านี้และอื่น ๆ อันแสดงความชักจูงนานาประการ กุมารน้อยผู้มึวามตั้งใจเด็ดเดี่ยวเต็มที่ก็สามารร์โดยทั่วหน้า ดังนั้นถ้าข้าไม่แสดงความเสียสละดังกล่าวนี้แก่พ่อแม่ ผลบุญอื่นใดเล่าที่ข้าจะได้รับจากร่างกายนี้” ด้วยถ้อยคำเหล่านี้และอื่น ๆ อันแสดงความชักจูงนานาประการ กุมารน้อยผู้มึวามตั้งใจเด็ดเดี่ยวเต็มที่ก็สามารถโน้มใจพ่อแม่ให้เห็นชอบด้วยในที่สุด เสร็จแล้วเขาก็กลับไปพบกับเหล่าราชบริพารที่กำลังตีฆ้องร้องประกาศอยู่และขอรับปฏิมาทองคำ พร้อมกับส่วยร้อยหมู่บ้าน จากนั้นก็ออกเดินทางพร้อมด้วยพ่อแม่ตรงไปยังนครจิตรกูฎอันเป็นสำนักของพระเจ้าแผ่นดิน ฝ่ายพระราชาจันทราวโลกเมื่อได้ทราบเรื่องราวทั้งหมดก็มีความพอพระทัยอย่างยิ่ง เพราะภารกิจสำคัญของพระองค์จะได้สัมฤทธิผลในโอกาสนี้ บรรดาเหล่าผู้เป็นอำมาตย์ราชมนตรีทั้งมวลก็แสดงความชื่นชมยินดีด้วย ขณะเมื่อกุมานำพ่อแม่เข้าไปเฝ้า พระราชาแลเห็นก็ปลาบปลื้มยิ่งนัก สั่งให้เอากุมารไปอาบน้ำ เสร็จแล้วชโลมร่างด้วยสุคนธรสอันหอมรื่น ให้ประดับศีรษะด้วยมาลาลังการ แล้วอุ้มกุมารขึ้นนั่งบนหลังช้างพระที่นั่ง และให้พ่อแม่ของกุมารขึ้นช้างตามไปพบพราหมณาสูรด้วยกัน เมื่อขบวนมาถึงที่สถิตของอสูร บริเวณอัศวัตถมณฑล พระราชาก็สั่งให้หยุด ทำเครื่องหมายวงกลมโดยรอบต้นไม้นั้น แล้วให้พราหมณ์ปุโรหิตกระทำการบูชาไฟ และถวายเครื่องพลีกรรมแก่พราหมณ์รากษสตามสัญญา ทันใดปีศาจพราหมณ์ก็ปรากฏกายขึ้น ส่งเสียงหัวเราะกึกก้องพร้อมกับร่ายพระเวทเป็นการตอบรับ ภาพปีศาจนั้นกลัวสยดสยองยิ่งนัก มันกำลังมึนเมาด้วยการดื่มโลหิตของมนุษย์ ต่อมาก็แสดงการหาวและทุบหน้าอกของตนหลายครั้ง นัยน์ตาของมันเป็นเปลวไฟเจิดจ้า และเงาของมันปรากฏจากร่างที่สูงทะมึนราวกับภูผาใหญ่สุดขอบฟ้า ค่อยย่างก้าวเข้ามา พระราชาจันทราวโลกแลเห็นดังนั้นก็เสด็จเข้าไปใกล้ น้อมพระองค์ลงแสดงความเคารพ และตรัสว่า “ภควาน ข้าพามนุษย์มาสังเวยแก่ท่านตามสัญญาภายในเจ็ดวัน บัดนี้ก็ได้เวลาตามสัญญานั้นแล้ว ขอท่านจงพึงพอใจในพลีนี้เถิด” เมื่อพระราชาตรัสวิงวอนดังนี้ พราหมณ์รากษสก็มองลงไปที่กุมารด้วยความยินดี และแลบลิ้นเลียริมฝีปากด้วยความกระหาย
ในขณะนั้น กุมารน้อยผู้ใจสูงก็กล่าวแก่ตัวเองด้วยความปีติว่า “ขออย่าให้กุศลผลบุณย์ซึ่งเกิดจากการสังเวยชีวิตของข้า จะทำให้ข้าไปสู่สวรรค์หรือความหลุดพ้นทุกข์ ถ้าหากผลบุณย์นี้จะไปไปถึงสัตว์โลกทั้งมวล ข้าเสียสละตนเองเช่นนี้ ข้าทำเพื่อผู้อื่นเท่านั้น และข้าก็จะกระทำอย่างนี้เสียสละอย่างนี้ตลอดชาตินี้ ชาติหน้า เรื่อยไปไม่มีวันสิ้นสุด” ในขณะที่กุมารน้อยประกาศสัจจะต่อโลกนี้ สวรรค์ก็เปิดออกในฉับพลัน มีรถแก้วแววฟ้านับจำนวนมิถ้วน ทุกคันเต็มแน่นไปด้วยเทพบุตรและเทพธิดา ถือพานโปรยปรายบุปผามาลีลงมาสดุดีราวกับฝอยฝน
ครั้นแล้วเด็กน้อยก็ถูกพาไปยังแท่นสังเวยต่อหน้าพราหมณ์ปีศาจ โดยผู้เป็นบิดาหิ้วเท้าและมารดาหิ้วแขนพาไปวางลง ขณะนั้นพระราชาก็ถอดพระแสงออกจากฝักเพื่อจะสังหารเด็ก แต่ในช่วงขณะแห่งความเป็นความตายนั้นเอง เด็กก็ระเบิดเสียงหัวเราะดังสนั่นหวั่นไหว เสียงหัวเราะนี้ทำให้ทุกคน ณ ที่นั้น รวมทั้งพราหมณ์ปีศาจด้วยต่างก็พากันผงะหงายด้วยความตกใจ และเมื่อได้สติทุกคนในที่นั้นก็รีบพนมมือและน้อมศีรษะแสดงความเคารพยังที่เท้าทั้งคู่ของกุมารสถิตอยู่ และจ้องมองหน้าของกุมารนั้นด้วยความประหลาดใจเป็นล้นพ้น
เวตาลตัวดีเมื่อเล่าเรื่องนิทานดังกล่าวแล้วก็ตัดบทเพียงแค่นั้น เพราะเห็นว่าพอเหมาะแก่การจะตั้งปัญหาให้พระเจ้าตริวิกรมเสนทรงตอบ โดยการตั้งคำถามว่า “โอ นฤบดี บอกข้าหน่อยสิว่า เพราะอะไรกุมารน้อยจึงหัวเราะเสียงน่ากลัวกึกก้องก่อนที่เขาจะถูกสังเวยชีวิตตามเงื่อนไขของปีศาจเช่นนี้ เรื่องนี้ประหลาดมากและข้ามองหาเหตุผลต้นปลายไม่เจอะเลย ถ้าพระองค์ทราบปริศนานี้ก็ขอได้บอกแก่ข้าด้วยเถิด แต่เออ ขอสะกิดไว้หน่อยว่า ทรงรู้แล้วมิใช่หรือว่า ถ้าพระองค์รู้คำตอบแต่แกล้งไม่ตอบละก็พระเศียรจะต้องแตกเป็นร้อยชิ้น”
เมื่อพระราชาได้ฟังเวตาลกล่าวดังนั้น ทรงตอบว่า “เจ้าจงเอาหูฟังให้ดี แล้วจะรู้ว่าเด็กหัวเราะเพราะอะไร ว่าโดยธรรมดาสามัญแล้ว สัตว์โลกที่อ่อนแอทั้งหลาย เมื่ออันตรายมาถึงตัวย่อมร้องเรียกให้พ่อหรือแม่ช่วยชีวิตด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าพ่อและแม่ตายไปก่อน เขาก็เรียกให้พระเจ้าแผ่นดินช่วย เพราะพระเจ้าแผ่นดินเป็นที่พึ่งของราษฎรโดยหน้าที่ของพระองค์อยู่แล้ว แต่ถ้าพึ่งพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ เขาก็จำเป็นต้องไปพึ่งเทพยดาทั้งหลายที่จะให้ความคุ้มครองแก่เขาได้ตามกรณี บัดนี้เมื่อพิจารณากรณีของเด็กน้อยแล้วจะเห็นว่าไม่เหมือนกัน เพราะกรณีเด็กผู้นี้ พ่อแม่ก็ยังอยู่ พระราชาก็ยังอยู่ เทพทั้งหลายก็ยังอยู่ ทุกคนอยู่ที่นั้นพร้อมกันหมด และแต่ละคนก็แสดงอาการ่ตรงกันข้ามกับที่ใคร ๆ คาดหวังว่าจะเป็น คือพ่อและแม่ของเด็กกลับช่วยกันหิ้วแขนหิ้วขาของเด็กเอาไปสู่ตะแลงแกงเสียเอง เพราะหวังแต่สิ่งตอบแทนที่จะพึงได้จากพระราชา ข้างพระเจ้าแผ่นดินก็ดูกระเหี้ยนกระหือรือที่จะฆ่าเด็กนั้นเสียเพื่อรักษาชีวิตของตนเอง และพราหมณ์รากษสเล่าก็ไม่มีจิตใจที่จะทำอะไร นอกจากจะขม้ำท่าเดียว บุคคลทั้งหลายในที่นั้น เด็กน้อยกล่าวรำพึงแก่ตัวเองว่า พวกเหล่านี้ล้วนแต่ชักนำความคิดของตัวเองให้ผิดลู่ผิดทาง ทั้งนี้ก็เพราะบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่กระทำอะไรก็เพื่อสังขารอันเปื่อยเน่า น่าเกลียด น่าขยะแขยง และเป็นทุกข์เป็นรังโรคด้วยกันทั้งสิ้น เหตุใดเขาจึงไมแลเห็นความจริงเหล่านี้ เขาทำเพื่ออะไรกัน กฎแห่งอนิจจังนั้นมีอยู่ ไม่มีใครหลีกพ้นได้ แม้พระพรหม พระอินทร์ พระวิษณุ พระศิวะ และเทพอื่น ๆ ก็อยู่ในกฎแห่งอนิจจังน้เหมือนกันหมดไม่มียกเว้น”
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้แล ทำให้กุมารน้อยระเบิดเสียงหัวเราะสนั่นหวั่นไหวด้วยความยินดี และด้วยความประหลาดใจ เสียงของเขาบอกถึงความปลื้มเปรมเพราะวัตถุประสงค์ของเขาบรรลุจุดมุ่งหมายแล้ว แต่ก็ประหลาดใจในขณะเดียวกัน เพราะความพินาศจะต้องมาถึงบุคคเหล่านั้นแน่ ๆ ในอนาคต โดยมิต้องสงสัย ด้วยสัจธรรมย่อมเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ”
พระเจ้าตริวเกรมเสนตรัสดังนี้แล้วก็นิ่งอยู่ และเวตาลก็ละจากพระอังสาของพระองค์ หายวับไปสู่ที่พำนักของตนด้วยอำนาจอันลึกลับ พระราชาไม่หยุดเสียเวลาเปล่า รีบติดตามเวตาลไปทันทีด้วยพระทัยอันมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวเฉกเช่นมหาสมุทรที่มีความั่นคงไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ตลอดกาลนั้นแล