英语英语 日语日语 韩语韩语 法语法语 德语德语 西班牙语西班牙语 意大利语意大利语 阿拉伯语阿拉伯语 葡萄牙语葡萄牙语 越南语越南语 俄语俄语 芬兰语芬兰语 丹麦语丹麦语 对外汉语对外汉语

泰语学习网

  • 高级搜索
  • 收藏本站
  • 网站地图
  • RSS订阅
  • 设为首页
  • TAG标签
  • TAG列表
  • 关键字列表
当前位置: 首页 » 泰语阅读 » นิทานเวตาล » 正文

นิทานเวตาล 22

时间:2012-07-31来源:互联网作者:jie  进入泰语论坛
核心提示:นิทานเรื่องที่ ๑๙ พระเจ้าตริวิกรมเสนจำใจเสด็จย้อนกลับไปที่ป่าช้าอีกครั้งหนึ่ง เพื่อ
(单词翻译:双击或拖选)
นิทานเรื่องที่
๑๙

          พระเจ้าตริวิกรมเสนจำใจเสด็จย้อนกลับไปที่ป่าช้าอีกครั้งหนึ่ง เพื่อดึงตัวเวตาลลงมาจากกิ่งอโศก เอาพาดกับพระอังสาแล้วดำเนินกลับมาทางเดิม ระหว่างที่เสด็จมาตามทางนั้น เวตาลก็ถือโอกาสกล่าวขึ้นว่า “ราชะ ขอได้โปรดฟังนิทานสนุก ๆ สักเรื่องเถิด ข้าจะเล่าถวาย โปรดทรงฟัง”

           มีนครแห่งหนึ่งในโลกนี้ชื่อ วโกรลกะ มีความงามอลังการเสมอด้วยนครอมราวดีของทวยเทพนั่นเทียว นครนี้มีพระราชาปกครองทรงนามว่าพระเจ้าสูรยประภะ ซึ่งทรงความยิ่งใหญ่เสมอด้วยพระอินทร์ พระราชาองค์นี้เปรียบเสมือนองค์พระวิษณุผู้ทรงถนอมโลกไว้ให้พ้นภัย โดยทรงรองรับโลกไว้ด้วยพระกรของพระองค์ (ทรงโอบอ้อมโลกไว้ในวงพระกร เหมือนบิดาโอบอุ้มลูกของตนไว้ในอ้อมแขน) ด้วยประการฉะนี้พระองค์จึงมีความยินดีในการรองรับภาระของราษฎรมิรู้เบื่อหน่ายในราชอาณาจักรของพระองค์ ถ้าจะเห็นน้ำตาของใครก็ย่อมมีแต่น้ำตาที่เกิดจากควันเข้าตาเท่านั้น จะพูดถึงความตายก็เฉพาะกรณีของคู่รักคู่เสน่หาที่โหยหากันเหมือนตายทั้งเป็นอย่างน่าสงสาร จะพูดถึงของสวยงามก็ให้ดูที่ไม้เท้าทองคำของอารักษ์ที่คุ้มครองพิทักษ์ พระราชานั้นเองเป็นตัวอย่างของผู้ครองพระราชทรัพย์อันมากมายล้นฟ้า อย่างไรก็ดี แม้พระองค์จะมีชายามากมายนับไม่ถ้วน แต่ก็หาได้มีพระราชโอรสไม่

           ทีนี้จะเริ่มตอนสำคัญของเรื่องนี้ให้ฟัง ในมหานครแห่งหนึ่งชื่อ เมืองตามรลิปติ มีพ่อค้าที่ร่ำรวยมหาศาลชื่อ ธนบาล เป็นผู้ที่ร่ำรวยมากที่สุดยิ่งกว่าใคร ๆ ทั้งหมดที่เป็นเศรษฐีในเมืองนั้น เขามีธิดาเพียงคนเดียวชื่อ ธนวดี ผู้มีความงามจับจิตราวกับเป็นวิทยาธรี (นางวิทยาธร) ที่หล่นลงมาจากสวรรค์เพราะถูกสาป เมื่อนางเจริญวัยขึ้นเป็นสาว พ่อค้าก็ตายลง พวกญาติก็กลุ้มรุมกันเข้ายึดทรัพย์สมบัติไปหมด ทั้งนี้เพราะพระราชาหาได้ช่วยเหลือคุ้มกันอะไรไม่ ดังนั้นผู้เป็นภรรยาของพ่อค้าคือ นางหิรัณยวดี ก็รีบฉวยสมบัติส่วนตัวของนางคือ เพชร พลอย และเครื่องประดับต่าง ๆ เอาไปซ่อนไว้ในที่เร้นลับไม่มีใครรู้ แล้วแอบหนีออกจากบ้านอย่างลับ ๆ ในยามต้นของราตรีพร้อมด้วยธิดาของนาง คือ ธนวดี หลบหน้าญาติพี่น้องเอาตัวรอดไป นางเล็ดรอดออกจากบ้านไปด้วยความลำบากยากยิ่ง นางจูงแขนลูกหนีกระเซอะกระเซิงอย่างมืดแปดด้าน และใจของนางยิ่งมืดมืดยิ่งกว่าความมืดของราตรี เพราะความเศร้าโศกมืดมิดในจิตใจและมืดมนจนปัญญากเพราะไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี ในที่สุดหลังจากที่มะงุมมะงาหรามาในความมืด นางก็รู้สึกตัวว่าวิ่งไปชนโจรผู้หนึ่งซึ่งถูกทางบ้านมืองเสียบประจานด้วยหลาว แต่มันยังไม่ตาย และการที่ถูกผู้หญิงวิ่งมาชนโดยแรง ทำให้แผลของมันฟกช้ำเจ็บปวดยิ่งขึ้น จึงร้องขึ้นว่า “โอ๊ย ใครเอาเกลือมาขยี้แผลของข้า แสบเหลือเกิน” ภรรยาพ่อค้าได้ฟังก็ตกใจ ถามว่า “ท่านคือใคร” โจรตอบว่า “ข้าเป็นโจร ทางบ้านเมืองติดตามตัวข้ามานาน ในที่สุดจับข้าได้ ตัดสินให้เสียบทวารข้าด้วยหลาวเหล็ก เอาขึ้นตั้งประจานไว้ริมทางนี้รอวันตาย แต่ถึงจะเสียบข้าเจ็บปวดสาหัสถึงเพียงนั้น แต่ข้าก็ยังไม่ตาย ว่าที่จริงจะพูดไป ข้ามันก็แค่ชายชั่วธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ไม่วิเศษวิโสอะไร ส่วนท่านเล่าเป็นใคร จึงได้วิ่งมากลางค่ำกลางคืนดึกดื่นป่านนี้” เมื่อภรรยาพ่อค้าได้ฟังก็เล่าเรื่องของตนให้โจรฟังโดยตลอด ขณะนั้นพระจันทร์ผ่านพ้นหมู่เมฆส่องแสงสว่างนวลใย แสงเดือนที่อ่อนละมุนจับต้องใบหน้าของธิดาพ่อค้า (ธนวดี) ทำให้เห็นความงามของนางอย่างเด่นชัด นายโจรจึงกล่าวกะแม่ของนางว่า “ข้าอยากจะขอร้อง อะไรท่านสักอย่าง ฟังให้ดีนะ ข้าจะให้ทองคำแก่ท่านพันตำลึง ท่านจงรับไว้และส่งนางมาเป็นเมียข้าเถิด” นางได้ฟังก็หัวเราะอย่างขบขัน และกล่าวว่า “เจ้าจะทำอะไรต่อนาง” โจรได้ฟังก็ตอบว่า “ข้าเวลานี้จะเป็นจะตายก็เท่ากัน ข้าไม่มีลูกชายเลยแม้แต่คนเดียว ท่านก็ทราบดีแล้วว่า ผู้ชายที่ไร้ลูกชายนั้น หาอาจที่จะได้รับผลบุญอันนำไปสู่ภพทั้งหลายอันมีแต่ความบันเทิงสุขไม่ แต่ถ้าท่านยอมตกลงตามข้อเสนอของข้า หญิงที่เป็นเมียข้าคนนี้จะคลอดลูกเป็นชาย โดยข้าอาจจะให้ชายอื่นมาเป็นพ่อของเด็กได้ และข้าจะยอมรับด้วยความเต็มใจว่าเขาเป็นลูกจริง ๆ ของข้า นี่คือเหตุผลของข้าว่าทำไมจึงขอร้องให้ท่านยกนางให้เป็นเมียข้า ท่านจะช่วยให้ข้าได้บรรลุจุดประสงค์ตามที่ปรารถนาได้หรือไม่” เมื่อหญิงหม้ายเมียพ่อค้าได้ฟังคำของร้องเช่นนั้น ประกอบกับความโลภที่มีอยู่ในนิสัยอยู่แล้ว นางจึงไปหาน้ำมาจากที่ใดที่หนึ่ง มารดมือนายโจร และกล่าวว่า “ข้ายกหญิงผู้เป็นลูกสาวของข้าคนนี้ให้แก่เจ้าในการสมรสครั้งนี้” นายโจรได้แต่งงานกับธิดาวานิชแล้วก็สั่งกำชับให้นางยึดมั่นในสัญญาตามที่ตกลงกันไว้ และให้นางแม่หม้ายให้ไปเอาทองตามสัญญาว่า “จงไปขุดเอาทองที่ฝังไว้ใต้ต้นนยโครธ (ต้นไทร) ต้นนั้นเถิด แล้วเก็บไว้ให้ดี เมื่อไรที่ข้าสิ้นลม จงเผาศพข้าอย่างธรรมดาเหมือนคนธรรมดาทั่วไปเถิด อย่าให้มีพิธีรีตรองอะไรเลย หลังจากเผาศพข้าแล้วจงเอากระดูกของข้าไปโยนลงแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใดก็ได้ เสร็จเรื่องของข้าแล้ว เจ้าสองคนแม่ลูกจงเดินทางไปนครวโกรลกะ ที่เมืองนั้น ผู้คนมีความสบายกันทั่วหน้า เพราะมีผู้ปกครองที่ดี มีพระราชาสูรยประภะเป็นประธานสูงสุด คนที่อยู่เมืองนั้นล้วนอบอุ่นใจไร้ความกังวลใด ๆ และพวกท่านก็จะไม่ถูกใครข่มเหงรังแกอีกด้วย”

           เมื่อนายโจรกล่าวมาถึงตอนนี้ บังเกิดความกระหายน้ำอย่างรุนแรง ก็ดื่มน้ำที่นางหญิงม่ายเอามาให้ แล้วถึงแก่ความตาย เพราะต้องถูกหลาวเสียบประจานมาหลายวัน ความบาดเจ็บแสนสาหัสทำให้ไม่อาจจะทนทานต่อไปได้อีก ฝ่ายนางหญิงหม้ายก็รีบไปขุดเอาทองมาไว้เป็นสมบัติของตน แล้วพาลูกสาวเดินทางไปอย่างเร้นลับ สู่บ้านเพื่อนคนหนึ่งของสามีนาง ระหว่างที่นางอาศัยพักพิงอยู่ที่นั่น นางก็ให้คนไปเอาศพนายโจรไปเผาเสีย และเอากระดูกไปโยนทิ้งที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายหนึ่ง และทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้ตามประเพณี วันรุ่งขึ้น นางเอาทรัพย์ที่ซ่อนไว้ และออกเดินทางพร้อมด้วยลูกสาวท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ จนในที่สุดมาถึงนครวโกรลกะ ณ ที่นั้น นางได้ซื้อบ้านหลังหนึ่งจากพ่อค้าชื่อสุทัตต์ และอาศัยอยู่ด้วยความผาสุกกับลูกสาวของนางคือ ธนวดี

           ในเวลานั้นมีครูผู้หนึ่งชื่อ วิษณุสวามิน อาศัยอยู่ในเมือง เขามีลูกศิษย์เป็นพราหมณ์หนุ่มรูปงามคนหนึ่งชื่อ มนสวามิน ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะมีชาติกำเนิดสูง มีการศึกษาดี แต่ตกเป็นทาสรักของหญิงคณิกาคนหนึ่งชื่อ หงสาวลี แต่นางเรียกค่าบริการสูงถึงครั้งละห้าร้อยเหรียญทองทีนาร์ ซึ่งชายหนุ่มหาได้มีเงินถึงขนาดนั้นไม่ เป็นสาเหตุให้เขากลัดกลุ้มใจเป็นกำลังเพราะความรักที่ไม่สมหวัง วันหนึ่งธนวดีธิดาพ่อค้าขึ้นไปพักผ่อนอยู่บนดาดฟ้าของคฤหาสน์ที่นางอาศัยอยู่ พร้อมด้วยบริวารแวดล้อมตามปกติ นางมองลงไปเบื้องล่าง แลเห็นพราหมณ์หนุ่มมนสวามินโดยบังเอิญ หัวใจนางก็ผวาต่อภาพของเขา และตกเป็นทาสความงามล้ำเลิศของเขาโดยทันที นางระลึกถึงคำสั่งของนายโจรสามีนางขึ้นมาได้จึงเข้าไปหามารดา และกล่าวฉอเลาะต่อนางว่า “แม่จ๋า เมื่อลูกได้เห็นความงามของหนุ่มฉกรรจ์คือพราหมณ์ผู้นี้แล้ว ลูกรู้สึกชื่นชมนี่กระไร เหมือนสายอมฤตธาราไหลพรูลงสู่หัวใจของข้าผู้ที่ได้พบเห็นเขา แม่เข้าใจไหมจ๊ะ” หญิงหม้ายผู้มารดาได้ฟังวาจาซึ่งกล่าวเป็นนัยดังนั้นก็เข้าใจในความหมายของลูกสาวทันที นางแลเห็นว่าลูกสาวของนางได้ตกหลุมรักพราหมณ์หนุ่มเข้าแล้ว ทำให้นางระลึกถึงสัญญาที่นางกระทำไว้ต่อนายโจรขึ้นมาได้ จึงรำพึงในใจว่า “ลูกสาวของเรามีสัญญาผูกพันกับนายโจรผู้เป็นสามีที่อนุญาตให้ลูกสาวของนางแสวงหาสามีได้ โดยมีเงื่อนไขว่าถ้ามีลูกชายด้วยกัน จะต้องให้ลูกชายยอมรับว่าตนเป็นพ่อ ซึ่งเงื่อนไขนี้ลูกสาวของนางจะต้องปฏิบัติตาม จะฝ่าฝืนมิได้ เมื่อมีเงื่อนไขอนุญาตอยู่อย่างนี้ ไฉนเล่านางจะเชิญชวนหนุ่มผู้นี้มาคุยด้วยไม่ได้” เมือใคร่ครวญดังนี้แล้ว นางก็ส่งสาวใช้ไปอย่างลับ ๆ ให้ไปพบพราหมณ์หนุ่ม เพื่อดำเนินงานตามแผนของนางทันที

           นางสาวใช้เดินทางออกจากบ้านไปหามนสวามิน และเจรจามตามแผนที่ได้รับมอบหมาย พราหมณ์หนุ่มได้ฟังคำขอร้องของหญิงคนใช้ก็ตอบว่า “ข้าจะตกลงด้วยก็ได้ ถ้าพวกเจ้าจะจ่ายแก่ข้าเป็นเหรียญทองห้าร้อยทีนาร์ ข้าจะได้เอาไปให้แก่นางหงสาวลียอดรักของข้า และข้าก็จะได้ร่วมอภิรมย์กับนางคืนหนึ่ง” เมื่อพราหมณ์หนุ่มตอบดังนี้ นางสาวก็กลับไปรายงานนายของตน หญิงหม้ายไวศยก็ยอมตกลงจ่ายเงินให้โดยไม่ชักช้า เมื่อมนสวามินได้เงินแล้ว ก็เดินตามสาวใช้ไปยังเรือนของนางธนวดี ผู้ซึ่งจะต้องเป็นภริยาของตนตามสัญญา เขาได้พบนางผู้งามด้วยรูปโฉมก็มีใจยินดีเหมือนนกเขาไฟที่เพลิดเพลินกับแสงนวลใยของพระจันทร์ฉะนั้น และหลังจากที่เขาได้ร่วมอภิรมย์กับนางคืนหนึ่งเขาก็เล็ดรอดหนีนางไปอย่างลับ ๆ ในเวลาเช้าตรู่

           ฝ่ายนางธนวดีลูกสาวพ่อค้าหลังจากได้ร่วมอภิรมย์กับพราหมณ์ในคืนนั้นแล้วนางก็ตั้งครรภ์ เมื่อครบกำหนดก็คลอดบุตรเป็นชาย มีลักษณะประกอบด้วยมงคลลักษณ์อันสูงส่ง นางและแม่ต่างก็พากันยินดีอย่างยิ่งที่ได้ลูกชายสมใจหวัง องค์พระศิวะมหาเทพก็เสด็จมาเข้าฝันนางทั้งสองในคืนวันหนึ่ง และตรัสแก่หญิงทั้งสองว่า “จงรับเด็กนี้ไว้ ในเวลาที่เขายังนอนอยู่ในเปล จงพาไปวางไว้ที่หน้าประตูวังของพระเจ้าสูรยะประภะ พร้อมด้วยเหรียญทองพันเหรียญในตอนเช้ามืด โดยวิธีนี้ ทุกอย่างจะเป็นผลดีอย่างน่าอัศจรรย์แก่เจ้า” ฝ่ายหญิงหม้ายไวศยะและลูกสาว เมื่อได้รับโองการจากพระศิวะดังนั้นแล้ว ก็รู้สึกตัวตื่นขึ้น ต่างคนต่างก็เล่าความฝันของตนให้ฟังซึ่งกันและกัน และเพราะมีความศรัทธาในองค์พระศิวะอย่างไม่แคลนคลอน คนทั้งสองก็อุ้มทารกน้อยพร้อมด้วยเหรียญทองในถุงรวมหนึ่งพันเหรียญไปวางไว้หน้าประตูวังของพระเจ้าสูรยะประภะ

           ในระยะเวลาดังกล่าวนั้น พระศิวะเป็นเจ้าก็เสด็จมาเข้าฝันพระราชาสูรยะประภะ ผู้ทรงทรมานมานานช้าโดยการไร้โอรสผู้จะสืบราชบัลลังก์ และตรัสว่า “ราชะ ลุกขึ้นเถิด มีคนเอาเด็กผู้ชายหน้าตางดงามคนหนึ่งและถุงทองมาวางไว้หน้าประตูวังของเจ้า ไปรับเอามาสิในเวลาที่เขายังนอนแบเบาะอยู่” เมื่อพระศิวะตรัสแก่พระราชาในความฝันเช่นนั้น พระองค์ก็รีบลุกขึ้นจากบรรจถรณ์ในเวลาเช้าตรู่ พอดีกับยามเฝ้าประตูงเข้ามาเฝ้ากราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้น เหมือนดำรัสของพระศิวะเจ้าทุกประการ พระองค์ก็รีบเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง เมื่อถึงประตูวังก็เห็นเด็กทารกคนหนึ่งนอนอยู่ ข้าง ๆ กายมีถุงทองวางอยู่ด้วย และเมื่อทรงอุ้มเด็กขึ้นเชยชมก็ทอดพระเนตรเห็นว่ากุมารน้อยมีลักษณะอันเป็นมงคล เช่น มือและเท้ามีเส้นเป็นลายรูปต่าง เช่น รูปฉัตร รูปธง และรูปอื่น ๆ จึงตรัสว่า “พระศิวะทรงประทานลูกชายที่น่ารักแก่ข้า” แล้วทรงโอบกอดกุมารน้อยแนบพระอุระ เสด็จเข้าสู่พระราชนิเวศ โปรดให้ทำพิธีฉลองสมโภชพระโอรสและให้ทานแก่บุคคลที่ยากจนให้มีทรัพย์สินสำหรับเลี้ยงชีวิตเป็นสุขสบายโดยทั่วหน้า และพระราชาสูรยประภะก็โปรดให้มีมหรสพดนตรีและการละเล่นเป็นเวลาถึงสิบสองวัน เสร็จแล้วทรงประทานนามแก่พระโอรสว่า จันทรประภะ

           แล้วเวลาก็ผ่านไป เจ้าชายจันทรประภะเจริญวัยขึ้นตามลำดับ มีรูปร่างงดงามและมีอุปนิสัยดียิ่ง เป็นที่ชื่นชมของข้าราชบริพารและผู้พบเห็นซึ่งพากันยกย่องสรรเสริญโดยทั่วหน้า ในที่สุดเจ้าชายก็เติบโตเป็นหนุ่มฉกรรจ์ มีพละกำลังแข็งขันราวกับจะแบกธรณีนี้ไว้ได้ (มหิธร) มีความกล้าหาญ มีความใจกว้าง มีความรู้ในศิลปวิทยาต่าง ๆ ยังความสำเร็จให้เกิดแก่กิจการทั้งปวง ฝ่ายพระบิดา คือพระเจ้าสูรยประภะ เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าเจ้าชายหนุ่มมีคุณสมบัติอันเลอเลิศเช่นนั้น ก็ทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง จึงทรงตั้งให้เป็นรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ต่อไป พระราชาสูรยประภะนั้นทรงชราแล้ว ได้ทรงสร้างความเจริญแก่แผ่นดินมาแล้วเป็นปึกแผ่นมั่นคง และเห็นว่าไม่มีอะไรจะต้องกังวลในชีวิตอีก จึงสละราชสมบัติให้แก่องค์รัชทายาทแล้วเสด็จไปเมืองพาราณสี และในเวลาดังกล่าว เจ้าชายรัชทายาทก็ปกครองแผ่นดินได้อย่างเรียบร้อย และยังแว่นเคว้นให้เจริญรุ่งเรืองด้วยความเฉลียวฉลาดของพระองค์ หามีราชอาณาจักรใดบนพิภพจะเปรียบปานได้ไม่ ส่วนราชาสูรยประภะเมื่อสละราชสมบัติแล้วก็ผนวชเป็นฤษีบำเพ็ญตบะอันแรงกล้า และละชีวิตไปสู่สวรรค์ของพระเป็นเจ้า เจ้าชายจันทรประภะได้ทราบข่าวการทิวงคตของพระาชบิดาก็ทรงเศร้าเสียพระทัยนัก และสั่งให้ทำพิธีถวายกุศลแก่พระราชบิดาอย่างสมพระเกียรติ และมีพระดำรสัแก่เสวกมาตย์ว่า “ข้าจะทำอย่างไร จึงจะตอบแทนพระบิดาของข้าให้สมกับที่พระองค์มีพระกรุณาธิคุณแก่ข้าเป็นเหลือล้นได้ ข้าจะชดใช้พระคุณนั้นด้วยมือของข้าเอง ข้าจะรวบรวมอัฐิอังคารของพระองค์ไปโปรยปรายลงที่แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นข้าจะเดินทางจารึกแสวงบุณย์ไปยังวิหารแห่งคยาเพื่อนมัสการพระเป็นเจ้าที่นั่น และกระทำพิธีเปตพลีอุทิศผลบุณย์ให้แก่บรรพบุรุษของข้าด้วย จากนั้นข้าจะธุดงค์ไปยังแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ไปให้ไกลจนถึงฝั่งมหาสาคนตะวันออกนั่นเทียว”

           เมื่อพระราชาดำรัสดังนี้ บรรดาอำมาตย์ราชมนตรีทั้งหลายก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระจักรพรรดิ ขึ้นชื่อพระราชาทั้งหลาย ย่อมไม่ควรที่จะกระทำอย่างนี้ เพราะการเป็นราชันนั้นมีข้อเสียหลายข้อที่จะต้องระมัดระวัง เมื่อพลาดพลั้งไปแล้วจะแก้ไขได้ยากนัก เพราะฉะนั้นพระองค์ควรที่จะตอบแทนพระคุณของพระบิดาด้วยวิธีอื่น มีประโยชน์อันใดเล่าที่พระเจ้าแผ่นดินจะต้องตะลอน ๆ ไป นมัสการแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ให้ลำบากพระกาย แทนที่จะกระทำพระบัญชา สั่งออกไปให้ผู้สนองพระโองการทำโน่นทำนี่ โดยมอบอำนาจหน้าที่ให้เขาไปทำเลยขึ้นชื่อว่าพระราชาทั้งหลาย ย่อมมีทหารรักษาพระองค์อยู่แล้ว โดยปกติย่อมประทับอยู่แต่ในวัง จะออกไปเที่ยวจาริกธุดงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นการเปิดเผยพระองค์ ทำให้เสี่ยงต่ออันตรายจากศัตรูทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นมิใช่หรือ” เมื่อพระราชาจันทรประภะได้ฟังถ้อยคำของอำมาตย์ราชมนตรีเช่นนั้นก็ตอบว่า “พอกันทีกับการตั้งข้อสงสัยเปล่า ๆ ปลี้ ๆ ทำให้ต้องยับยั้งเสียเวลาต่อไปอีก ถึงอย่างไร ๆ ข้าก็ต้องไปเพื่อเห็นแก่พ่อของข้า ข้าจะต้องเดินทางไปนมัสการแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ให้จงได้ในขณะที่ข้ายังหนุ่มแน่นเข็งแรงอยู่ ใครเล่าจะรู้ว่าอะไรจะเกิดจากนี้เป็นต้นไป ถ้าร่างกายต้องสูญสลายในฉับพลัน จะอย่างไรก็ดี เจ้ามีหน้าที่ดูแลแว่นแคว้นของข้าไว้ จนกว่าข้าจะกลับมา” บรรดาราชมนตรีทั้งหลายได้ฟังกระแสรับสั่งเด็ดขาดดังนี้ ต่างก็พากันเงียบอยู่ พระราชาก็เตรียมตัวออกเดินทาง และรอวันฤกษ์ดีซึ่งจวนจะมาถึงในไม่ช้า เมื่อวันฤกษ์ดีมาถึง พระราชาก็เสด็จเข้าสรงสนาน ทำพิธีสังเวยพระอัคนี (ไฟ) และประทานลาภสการแก่เหล่าพราหมณ์ เสร็จแล้วเสด็จขึ้นรถทรง ซึ่งมีม้าเทียมอยู่พร้อมสรรพ พระองค์ทรงพัสตราภรณ์โยคีเวศอันต่ำต้อย และเริ่มการเดินทางธุดงคจาริก ทรงฝ่าฝูงชนเป็นอันมากออกไปอย่างลำบาก ตั้งแต่พวกหัวหน้าเผ่าต่าง ๆ พวกราชปุต ชาวนคร และคนบ้านนอก ซึ่งติดตามมาส่งเป็นระยะทางไกลถึงชายราชอาณาเขต จนพระองค์ต้องขอร้องให้กลับไป ทั้ง ๆ ที่เขาเหล่านั้นล้วนแต่ไม่เต็มใจจะจากพระองค์เลย พระองค์ทรงปลดภาระราชกิจอันหนักยิ่งไว้ให้แก่เหล่าเสนาบดีทั้งปวงแล้วก็มีพระทัยแช่มชื่นปราศจากกังวลใด ๆ เสด็จโดยรถแล่นไปตามทาง มีข้าราชบริพารคือกรมวัง แวดล้อมด้วยหมู่พราหมณ์ทั้งหลายตามเสด็จไปในรถอีกหลายคัน พระองค์ได้ทรงพบเห็นดินแดนแว่นแคว้นต่าง ๆ ผู้คนต่างชาติต่างภาษา และในที่สุดก็เสด็จมาถึงแม่น้ำคงคา พระองค์หยุดยืนทอดพระเนตรภาพแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฎเฉพาะพระพักตร์ แลเห็นเกลียวคลื่นทอดเป็นสายยาววิ่งเข้าสู่ฝั่ง ดูราวกับสะพานที่ทอดรับมรรตัยชนจากโลกนี้ไปสู่สวรรค์ พระคงคานี้อาจจะชวนให้นึกถึงพระอัมพิกา(พระอุมา) ผู้เป็นน้อง เพราะมีกำเนิดมาจากภูเขาหิมวัต(หิมาลัย) เช่นเดียวกัน ก็พระคงคาสายนี้แลที่ไหลวนเวียนอยู่ในพระเมาลีของพระศิวะเป็นเวลานานนับพันปีแล้วตกลงสู่โลก เป็นที่เคารพบูชาในหมูเพทฤษีและคณะ (คณะ หมายถึง เทพกลุ่มหนึ่งหรือพวกหนึ่ง ซึ่งคอยบำเรอรับใช้พระศิวะโดยเฉพาะ) ท้าวจันทรประภะมีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยมในพระหฤทัยก็เสด็จลงจากรถ และสรงสนานพระวรกายในมหานทีแห่งนั้น แล้วทรงโปรยอัฐิอังคารของพระเจ้าสูรยประภะลงสู่แม่น้ำคงคาตามประเพณี

          และหลังจากที่พระราชาทรงให้ทานและทำพิธีศารทธพรต (ศราทธ์ หรือศราทธพรต เป็นพิธีที่ลูกชายบำเพ็ญเพื่อผู้ตายซึ่งเป็นบิดาของตน) เสร็จแล้วก็เสด็จขึ้นรถพระที่นั่งแล่นไปจากสถานที่นั้น ในที่สุดมาถึงประยาค ซึ่งเป็นที่อันฤษีทั้งหลายพากันเคารพอย่างสูง เพราะเป็นที่แม่น้ำคงคากับแม่น้ำมยุนาไหลมาบรรจบกัน และเป็นสถานที่เหล่าฤษีพากันทำพิธีบูชากูณฑ์ (กูณฑ์ คือ กุณฑะ ซึ่งหมายถึงหลุมที่ขุดขึ้นเพื่อก่อไฟ โดยพราหมณ์จะตักเนยใสหยอดลงไป ทำให้ไฟลุกอยู่เพราะเชื้อคือเนยใส การบูชาไฟคือ การถวายเครื่องสังเวยแก่พระอัคนีโดยเฉพาะ) เรียงรายไปตามริมฝั่งน้ำเป็นเปลวไฟลุกวับ ๆ แวม ๆ ไปตลอดทางและมีควันไฟพวยพุ่งขึ้นมาไม่ขาดสายพระราชาจันทรประภะ ทรงถือศีลจานทรายณะ (จานทรายณะ หมายถึง พิธีถือศีลอดโดยกำหนดเวลาตามพระจันทร์หรือถือพระจันทร์เป็นหลักในการคำนวณ) และทรงประกอบศาสนกิจที่สำคัญคือ การสระสนานในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ การให้ทานพระราชทรัพย์และอื่น ๆ เสร็จขบวนการพิธีศราทธ์โดยครบถ้วนแล้ว พระราชาก็เสด็จไปสู่นครพาราณสี ซึ่งเป็นที่รวมแห่งโบสถ์วิหารอันศักดิ์สิทธิ์ มีธงเทียวปลิวสะบัดพลิ้วบนยอดหลังคาเหมือนจะกวักมือเชิญชวนผู้จารึกแสวงบุณย์มาแต่ไกลว่า "มาเถิดและสู่โมกษะ (ความหลุดพ้นทุกข์) ณ ที่นี้"

          ในนครนี้ พระราชาจันทรประภเทรงถือศีลอดสามวัน และทรงบูชาพระศิวะด้วยมังสาหารชนิดต่าง ๆ หลังจากนั้นทรงออกเดินทางไปยังตำบลคยา ขณะที่เสด็จผ่านไปตามไพรสณฑ์อันประกอบด้วยไม้นานาพรรณ ซึ่งมีกิ่งค้อมลง เพราะน้ำหนักแห่งผลอันดกสะพรั่งทุกกิ่งก้าน มีนกร้องเพลงอย่างไพเราะอ่อนหวานเป็นที่จำเริญโสติยิ่งนัก ดูคล้ายกับว่าต้นไม้ที่ค้อมกิ่ง และนกที่ส่งเสียงแจ้วจำเรียงนั้นเป็นผู้ที่ก้มกายอัญชลี และถวายเสียงสดุดีสรรเสริญพระองค์ ฉะนั้น ขณะที่สายลมอ่อนรำเพยพัดลู่กิ่งดอกไม้ป่าไปมาก็เหมือนกำลังถวายพวงบุปผามาลัยแก่พระองค์ขณะเสด็จย่างผ่านไป ในที่สุดพระองค์ก็เสด็จล่วงพ้นแนวป่า และบรรลุยังภูเขาคยาอันศักดิ์สิทธิ์ (ภูเขาคยาศีรษะ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของอินเดียว แปลตามรูปศัพท์ว่า "ศีรษะแห่งคยา" กล่าวคืออสูรชื่อคยาได้บำเพ็ญตบะอันแรงกล้าที่ภูเขาโกลาหล พระพรหมและเทวดาทังหลายพากันมาเยี่ยม พระพรหมถามคยาสูรว่า ทำความเพียรเพื่ออะไร อสูรจึงขอพรพระพรหมว่าขอให้ร่างกายของตนเมื่อหาชีวิตไม่แล้ว จงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก ซึ่งใครก็ตามได้แตะต้องร่างของตนแล้วจะบรรลุความหลุดพ้นทุกข์ทั้งปวงคือ บรรลุโมกษะนั่นเอง) ณ ที่นั้นพระราชาทรงบำเพ็ญศราทธพรตอีก และประทานทรัพย์ให้แก่พราหมณ์ จากนั้นเสด็จเข้าสู่ป่าศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่พระองค์กำลังทำพิธีถวายข้าวบิณฑ์แก่พระราชบิดาในบ่อน้ำแห่งคยานั้น ก็มีมือสามมือยื่นขึ้นมาจากบ่อน้ำเพื่อจะรับข้าวทิพย์พร้อม ๆ กัน เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงพิศวงงุนงงยิ่งนัก จึงตรัสถามคณะพราหมณ์ของพระองค์ว่า "นี่หมายความว่ากระไร ข้าจะส่งข้าวบิณฑ์ให้มือไหนล่ะ" คณะพราหมณ์ก็ทูลว่า "ราชะ มือนี้ที่ยื่นมามีรอยศูล (หลาว) แทงมาก่อน แสดงว่าเขาเป็นโจร มือที่สองที่ถือปูมโหรแสดงว่าเป็นพราหมณ์ ส่วนมือที่สามซึ่งนิ้วสวมแหวนและมีเส้นวาสนานี้เป็นมือของพระราชา ดังนั้นพวกข้าพระองค์จึงไม่ทราบว่ามือไหนสมควรแก่การรับข้าวบิณฑ์ และเหตุการณ์ทั้งหมดหมายความว่ากระไร" เมื่อคณะพราหมณ์กล่าวดังนี้ พระราชาจันทรประภะก็ทรงลังเลพระทัยไม่อาจจะตัดสินลงไปได้

          เมื่อเวตาลซึ่งนั่งอยู่บนบ่าของพระราชาได้จบนิทานอันแสนมหัศจรรย์ลงแล้ว ก็กล่าวแก่พระเจ้าตริวิกรมเสนว่า "เอาละ พระองค์จะตัดสินได้หรือยังว่า มือของใครควรจะได้รับข้าวบิณฑ์พระราชทานนั้น ขอให้ใต้ฝ่าพระบาทตอบข้าด้วย แต่อย่าลืมคำสัญญานพระเจ้าข้าว่าทรงตกลงอะไรไว้แก่ข้า"

          ฝ่ายพระเจ้าตริวิกรมเสนผู้ทรงเชี่ยวชาญในพระธรรมศาสตร์ ได้ฟังถ้อยคำของเวตาลก็ทรงลืมพระองค์ ตรัสทำลายความเงียบขึ้นว่า

          "ก้อนข้าวบิณฑ์พึงให้แก่มือโจร เพราะเจ้าจันทรนประภะผู้ทำพิธีศราทธพรตนี้เป็นลูกของเขา มีชีวิตเติบโตขึ้นมาได้ก็เพราะคำสัญญาที่นางผู้เป็นมารดาของเด็กตกลงแก่เขาไว้ เพราะฉะนั้นชายอีกสองคน จึงหาใช่บิดาของเขาไม่ เพราะถึงแม้ว่าพราหมณ์หนุ่มคือ มนสวามิน จะเป็นผู้ให้กำเนิดแก่จันทรประภะก็ตาม เขาก็ไม่อาจนับว่าเป็นพ่อที่แท้จริงไม่ เพราะมนสวามินเป็นเพียงผู้ชายขายตัวเพียงคืนหนึ่ง เพื่อเอาเงินไปบำเรอหญิงคณิกาชื่อนางหงสาวลีเท่านั้น อย่างไรก็ดีจันทรประภะอาจพิจารณาว่าเป็นโอรสของพระเจ้าสูรยประภะก็ได้ เพราะว่ากษัตริย์พระองค์นั้นทรงรับพระองค์ไว้เป็นโอรส โดยทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ต้อนรับตั้งแต่แรกเกิด เรียกว่า พิธีชาตกรรม เมื่อทรงรับเป็นลูกแล้วก็ทรงเลี้ยงดูกุมารน้อยอย่างดีที่สุดจนเติบใหญ่ แต่มีข้อควรคิดว่าพระเจ้าสูรยประภะรับมาเลี้ยง โดยที่กุมารมีทรพัย์สินเป็นทองพันตำลึงเป็นค่าจ้างเลี้ยงดูตั้งแต่นอนอยู่ในเปล ถ้าพระเจ้าสูรยประภะไม่รับทรัพย์สินดังกล่าวนี้พระองค์ก็คงได้ชื่อว่าเป็นพ่อของเด็กโดยบริสุทธิ์กายและใจ อย่างไรก็ดีความจริงมีอยู่ว่าพระเจ้าจันทรประภะเป็นผู้ทีชายคนหนึ่งทำให้เกิดมาโดยเจตนาและกติกาที่นายโจรวางไว้ว่า บุตรชายนั้นจะเกิดจากใครก็ตามก็ต้องเป็นลูกของตนเท่านั้น เงื่อนไขนี้ใคร ๆ จักปฏิเสธมิได้ เพราะแม่ของเด็กได้ทำพิธีสมรสกับโจร โดยหลั่งน้ำทักษฺโณทกบนมือถูกต้องตามประเพณีทุกอย่าง เมื่อนายโดจรเป็นพ่อของเด็กคือพระเจ้าจันทรประภะ ตามเหตุผลดังกล่าวนี้ เขาจึงสมควรและมีสิทธิ์จะได้รับข้าวบิณฑ์ของลูกของเขาในพิธีศราทธ์ทุกอย่าง และนี่คือความเห็นของข้า"

          เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ เวตาลก็กระโดดจากพระอังสาของพระองค์อย่างรวดเร็ว หายวับกลับไปยังที่อยู่ของตนทันที และพระเจ้าตริวิกรมเสนก็ต้องเสด็จติดตามเพื่อเอาตัวเวตาลกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง  

顶一下
(0)
0%
踩一下
(0)
0%

热门TAG: 魔鬼 半兽人


------分隔线----------------------------