นักวิชาการห่วงลัทธิเอาอย่าง สาวถอดเสื้อวาดรูป อ้างศิลปะ
(18 มิ.ย.) นักวิชาการติงกรณีรายการดังปล่อยโชว์ความสามารถทางศิลปะออกอากาศ แต่เกินขอบเขตความเหมาะสม จะทำให้เกิดลัทธิเลียนแบบในเด็กและเยาวชน ขณะที่เครือข่ายครอบครัวฯ สรุป "ไม่เหมาะสม" เรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ผลิตและสถานี โดยส่งเรื่องให้ กสทช.ตรวจสอบ
นายอมรวิชช์ นาครทรรพ นักวิชาการด้านเด็กและเยาวชน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีรายการดังเผยแพร่ความสามารถของสตรีด้านศิลปะแต่ใช้อวัยวะไม่ควรเปิดเผยมาวาดภาพ ว่า เป็นเรื่องที่เกินจากคำว่า "ศิลปะ" และไม่ควรผ่านกระบวนการตรวจสอบ (เซนเซอร์) ให้นำออกอากาศ ทางผู้ผลิตและสถานีไม่ควรคำนึงแต่กระแส เพราะหลังรายการจบก็ไปเป็นประเด็นต่อในสังคมออนไลน์ ที่อาจจะเกิดลัทธิเอาอย่างหรือเลียนแบบ เหมือนกรณีแพลงกิ้นหรือทำท่านอนเหมือนคนตาย จนเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต เนื่องจากต้องยอมรับว่าสังคมไทยปัจจุบัน ภูมิคุ้มกันของเด็กไม่แข็งแรง ครอบครัวไม่เข้มแข็ง และเป็นสังคมที่มีหลายวิจารณญาณ ทำให้เด็กและเยาวชนสับสน
ด้านนางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า ภายหลังสมาชิกของเครือข่ายครอบครัวฯ ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กได้ดูภาพแล้ว มีความเห็นร่วมกันว่า "ไม่เหมาะสม" เหมือนที่พิธีกรหญิงพูด เพราะเป็นการโชว์สื่อสาธารณะ แม้จะมีการทำภาพเบลอไม่ชัด แต่จากท่าทางที่เห็นการถอดและเต้น ไม่ควรมีในรายการโทรทัศน์ ถือเป็นความตั้งใจและสร้างกระแส และไม่ทราบว่า ในระหว่างการบันทึกการแสดงในห้องส่งมีเด็กได้ชมมากหรือไม่ ทางเครือข่ายฯ ขอเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ผลิตรายการและสถานี ที่ปล่อยให้มีการแสดงชุดนี้ออกอากาศ เพราะก่อนการแสดงต้องมีการสัมภาษณ์ แต่ยังปล่อยให้ออกอากาศ หมายความว่า "เจตนา"
ทั้งนี้ ภายในวันนี้จะทำจดหมายไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยส่งทางโทรสาร (แฟกซ์) เพื่อให้รวดเร็วที่สุด และสำเนาถึงสถานี และบริษัทผู้ผลิต เพื่อให้ กสทช.พิจารณาดำเนินการ เพราะหากปล่อยให้ผ่านไป อีกไม่นานจะต้องเกิดขึ้นอีก .- สำนักข่าวไทย