ทำได้ไง! เปลี่ยน"กล้วย"ให้กลายเป็น"เปียโน" อยากรู้? 2 นักศึกษามะกันมีคำตอบ!
นักศึกษา 2 คน จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซ็ตต์ (เอ็มไอที)ของสหรัฐฯ สามารถประดิษฐ์"เปียโนกล้วย"ได้สำเร็จ
นายเจย์ ซิลเวอร์ และนายเอริค โรเซนบอม วัย 32 ปี ได้ร่วมกันพัฒนาเพื่อดัดแปลงสิ่งต่างๆที่สามารถพบเห็นในชีวิตประจำวันให้กลายเป็น"แผ่นสัมผัส" โดยได้พัฒนาชุดอุปกรณ์ที่เรียกว่า "เมคกี้เมคกี้" (MakeyMakey) ซึ่งสามารถเปลี่ยนผลไม้, สัตว์ หรือแม้กระทั่งมนุษย์ ให้กลายเป็นคีย์บอร์ดได้
นายโรเซนบอม กล่าวว่า แนวคิดของเขาก็คือ ต้องการให้อุปกรณ์ชนิดนี้ ช่วยทำให้คนทั่วไปสามารถมองเห็นโลกที่อยู่รอบตัวพวกเขาเป็นอุปกรณ์สารพัดประโยชน์ได้โดยชุดอุปกรณ์ประกอบด้วย สายยูเอสบี และแผงวงจร"ตามสั่ง "ที่ติดคลิปปากจระเข้ โดยแผงวงจรถูกตั้งโปรแกรมให้ทำหน้าที่แผ่นคีย์บอร์ดมาตรฐานทั่วไป เมื่อเชื่อมต่อแผงวงจรเข้ากับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือแลปท็อปโดยผ่านสายยูเอสบี คลิปปากจระเข้ก็สามารถเชื่อมต่อเข้ากับวัตถุใดๆก็ได้ที่สามารถส่งผ่านกระแสไฟฟ้าได้
ส่วนในด้านความปลอดภัย เขากล่าวว่า จำนวนกระแสไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในระดับต่ำและไม่สามารถทำอันตราย เมื่อเชื่อมต่อชุดอุปกรณ์เข้ากับมนุษย์และสัตว์ อีกทั้งมีการติดตั้งฟิวส์ในแผงวงจรและยูเอสบีพอร์ท เพื่อป้องกันอันตรายอีกชั้น
ด้านนายซิลเวอร์เผยว่า ความเป็นไปได้อยู่ในระดับไม่จำกัด สามารถเชื่อมต่อกับ"บร็อคโคลี" เพื่อสร้างเสียงดนตรีและส่งผ่านไปยังสไกพ์ได้ หรือแม้กระทั่งแมว ก็ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการทดลองได้ โดยอวัยวะของแมวที่สามารถเชื่อมต่อได้ อาทิ แผ่นอุ้งเท้าแมว หู จมูก และปาก ขณะที่ส่วนขนไม่สามารถทำได้ ด้านนายโรเซนบอมอ้างว่า เขาสามารถเปลี่ยนเพื่อน 2 คนของเขา หรือแม้กระทั่งแก้วใส่นม ให้เป็นเครื่องผลิตเสียงดนตรีได้ และลูกบอลชายหาดให้กลายเป็นแผงควบคุมเกมคอมพิวเตอร์
นายโรเซนบอม ระบุว่า เขาต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของผู้คนที่มีต่อเทคโนโลยี เด็กมักเบื่อวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เนื่องจากวิธีการสอนของครู วิธีการของเขาก็คือ ทำให้สิ่งต่างๆเป็นเรื่องที่ง่ายต่อผู้คนที่ต้องการใช้กลไกด้านวิศวกรรม ในฐานะเครื่องมือที่จุดประกายการคิดสร้างสรรค์ โดยได้มีการประดิษฐ์สินค้าต้นแบบออกไปแล้วกว่า 150 ชุด
แอนมารี โธมัส ลูกค้ารายหนึ่งกล่าวว่า แม้แต่ลูกสาววัย 4 ขวบของเธอก็สามารถเชื่อมต่อชุดอุปกรณ์ดังกล่าวกับสิ่งของต่างๆได้ด้วยตัวเอง โดยไม่มีอันตราย ซึ่งเป็นการช่วยให้เด็กๆได้เข้าใจถึงการทำงานของแผงวงจรไฟฟ้า และเป็นการปูพื้นฐานเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสูง