อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
สถานที่ติดต่อ : 93 หมู่ที่ 5 ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 82210
โทรศัพท์ : 076-453272
โทรสาร : 076-453273
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายมานะ เพิ่มพูล
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 8 องศา 28ลิปดาถึง 9 องศา 15 ลิปดาเหนือ ตัดกับลองติจูดที่ 97 องศา ถึง 97 องศา 50 ลิปดาตะวันออก ในทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อยู่ห่างจากท่าเทียบเรือทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ประมาณ 70 กิโลเมตร และห่างจากท่าเทียบเรือหาดป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ประมาณ 90 กิโลเมตร เกาะเมียงหรือเกาะสี่เป็นที่ตั้ง
“สิมิลัน” เป็นภาษายาวี หรือมลายู แปลว่า “เก้า” จึงมีชื่อเรียกกันว่า หมู่เกาะสิมิลัน หรือเกาะเก้า ประกอบไปด้วยเกาะใหญ่น้อย 9 เกาะด้วยกัน เกาะทั้งเก้าเรียงตัวตามแนวทิศเหนือไปทิศใต้ ได้แก่ เกาะบอน เกาะบางู เกาะสิมิลัน เกาะปายู เกาะห้า เกาะเมียง เกาะปาหยัน เกาะปายัง และเกาะหูยง
หมู่เกาะสิมิลัน ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติของประเทศไทย ลำดับที่ 43 ในปี พ.ศ. 2525 มีขนาดพื้นที่ 128 ตารางกิโลเมตร (80,000 ไร่) และในปี 2541 ได้ผนวกพื้นที่บริเวณ “เกาะตาชัย” เพิ่มอีก 12 ตารางกิโลเมตร เข้าเป็นอุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่เกาะและห้วงน้ำทะเลรอบเกาะที่มีปะการังสมบูรณ์ ในท้องที่เกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 140 ตารางกิโลเมตร (87,500 ไร่) พื้นที่เกาะซึ่งเป็นที่ดินมีประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร (16,250 ไร่) ชายฝั่งทะเลในหมู่เกาะสิมิลัน เป็นส่วนภาคตะวันออกของทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดียที่มีการลดตัวลงของพื้นทะเล(SUBMERGENT SHORELINE) จึงมีการกัดเซาะพังทลายโดยมีน้ำทะเลเป็นตัวกระทำอย่างรุนแรงทำให้บริเวณเกาะทั้ง 9 เกาะ เกิดเป็นลักษณะภูมิประเทศที่แปลกตา มีรูปร่างต่างๆ อันเป็นผลจากขบวนการกัดเซาะ สำหรับหินที่พบในหมู่เกาะสิมิลัน ทั้ง 9 เกาะ เป็นหินอัคนีชนิด granite อายุของหินนี้อยู่ระหว่างยุค Tertiary – cretaceous ประมาณ 65 ล้านปีที่ผ่านมา
ขนาดพื้นที่
87500.00 ไร่
หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่สล.1(เกาะเมียง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่สล.2(เกาะสิมิลัน)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ สล.3(เกาะตาชัย)
ภาพแผนที่
ลักษณะภูมิอากาศ
ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูงเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 83 % ปริมาณน้ำฝนแต่ละปีเฉลี่ย 3,560 มิลลิเมตร ปริมาณการระเหยของน้ำแต่ละปีเฉลี่ย 1,708 มิลลิเมตร ช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักแล้ว ท้องทะเลยังมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันในช่วงนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว จึงกำหนดปิด-เปิดฤดูการท่องเที่ยวประจำปี ดังนี้
ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี
เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน - 30 เมษายน ของทุกปี
พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
1. ป่าชายหาด มีลักษณะโปร่งพบพันธุ์ไม้กระจัดกระจายมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร ได้แก่ หูกวาง จิกเล สารภีทะเล ไม้ยืนต้นขนาดเล็กและไม้พุ่มขนาดใหญ่ ความสูงไม่เกิน 10 เมตร เช่น ตะบัน หงอนไก่ทะเล ปอทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มขนาดเล็ก เช่น ชิงชี่ ก้างปลาทะเล เตยทะเล เป็นต้น พืชคลุมดินที่พบ เช่น พืชตระกูลถั่ว พวกถั่วผี ผักราด หญ้าที่พบตามชายหาด เช่น หญ้าหวาย หญ้าขุย ไม้ไผ่ พืชอาศัย ได้แก่ นมพิจิตร ข้าหลวงหลังลาย เป็นต้น
2. ป่าละเมาะ เป็นสังคมของไม้พุ่มที่เจริญเติบโตได้บนดินที่มีความลึกของชั้นดินไม่เกิน 30 เซนติเมตร พรรณไม้ที่พบไม่หนาแน่นนัก เช่น กระบองเพชร จันทน์ผา ไม้พุ่มขนาดเล็กที่พบทั่วไป ได้แก่ พลอง นกนอน เป็นต้น
3. ป่าดงดิบ ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ความสูง 20 เมตรขึ้นไป ได้แก่ ยางปาย ยูง สะยา ไม้ยืนต้นขนาดรองลงมา ความสูง 15-20 เมตร ได้แก่ ขนุนนก เม่า โมกป่า ไม้ยืนต้นขนาดกลางความสูง 10-15 เมตร ที่พบ เช่น กระเบา รักป่า เนียน เป็นต้น มักพบ ไผ่ป่า หวาย ปาล์ม ขึ้นปะปน ไม้เลื้อย ไม้เถาว์ที่พบ เช่น พลูฉีก เสี้ยวเครือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบกล้วยไม้และกาฝากเกาะตามกิ่งก้านไม้ขนาดใหญ่
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญหาพบได้ยาก ได้แก่ ละมุดป่า และงวงช้างทะเล พบเฉพาะเกาะใหญ่ในทะเลอันดามัน พืชที่กินผลหรือใบอ่อนได้ เช่น ละมุดป่า มะปริง มะหวด เนียง ผักหวาน และชิงชี่ เป็นต้น
สัตว์ป่า จากการสำรวจสามารถจำแนกได้ดังนี้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก เช่น ค้างคาวแม่ไก่เกาะ ค้างคาวปีกถุงเคราดำ พญากระรอกดำ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น โลมาหัวขวด เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย เต่าทะเลที่สำคัญได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่ากระ นอกจากนี้ยังพบพวกเหี้ย แลน กระรอก เป็นจำนวนมาก ส่วนจำพวกงู ไม่เคยพบงูที่มีพิษ งูที่พบมากได้แก่ งูเหลือม
นก ที่พบได้บ่อยในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีดังนี้
1. นกที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย และไม่อพยพย้ายถิ่น เช่น เหยี่ยวแดง นกกวัก เป็นต้น
2. นกที่จัดเป็นนกอพยพ เข้ามาในประเทศไทยบางฤดูกาล เช่น นกปากซ่อมหางเข็ม นกเด้าลมหลังเทา
3. นกประจำถิ่นและบางครั้งมีการอพยพย้ายถิ่น ได้แก่ นกนางแอ่นบ้าน นกยางควาย นกอีลุ้ม และนกนางนวลแกลบสีกุหลาบ เป็นต้น
ปลา ที่สำคัญที่พบเป็นพวกปลาทะเล ได้แก่ ปลาฉลาม ปลากระโทงเทง ปลากระเบน ปลาบิน ปักเป้าทะเล รวมตลอดถึงปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งปะการังอีกหลายชนิด เช่น ปลาผีเสื้อ ปลานางฟ้า และปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกหลายชนิด
สัตว์ประเภทอื่นที่สำคัญ สำหรับพันธุ์สัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ปะการัง และแมงกระพรุน ซึ่งปะการังโดยรอบหมู่เกาะสิมิลัน ส่วนใหญ่เป็นปะการังน้ำลึก เท่าที่สำรวจพบ ได้แก่ ปะการังใบไม้ ปะการังแปรงล้างขวด ปะการังรูพรุน นอกจากนี้ยังมีปะการังที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และปะการังพรุนแบบฟองน้ำอีกหลายชนิด ทั้งยังพบพวกกัลปังหาอีกเป็นจำนวนมากด้วย
การเดินทาง
รถยนต์
ออกเดินทางจาก กทม. จนถึงเส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ช่วงระนอง - พังงา ) มาทางตะกั่วป่า จากตะกั่วป่ามาที่บ้านลำแก่นจะมีสามแยกขวามือไปท่าเรือทับละมุ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ก่อนถึงท่าเรือทับละมุประมาณ 50 เมตร จะมีที่ทำการของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันตั้งอยู่ทางซ้ายมือ
เครื่องบิน
จากท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ถึงท่าอากาศยานภูเก็ต จากนั้นเดินทางสู่จังหวัดพังงา โดยรถโดยสารประจำทางหรือรถตู้ (มีรถตู้จากท่าเรือบริการ Transfer รับ - ส่ง เที่ยวละ 300 บาทต่อคน ) ถึงท่าเทียบเรือทับละมุ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร และเดินทางโดยเรือ สปีดโบสท์ ไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร ในการเดินทางโดยเรือนั้นจะต้องจองล่วงหน้าประมาณ 3 วันอย่างน้อย เพราะเรือจะมีทั้งไป และกลับเพียงแค่เที่ยวเดียวเท่านั้น คือ เที่ยวเช้าเดินทางไปเกาะ เวลา 8.30 น. และเที่ยวกลับจากเกาะเวลา 15.30 น. ( การเดินทางตอนไปเกาะเรือของบางบริษัทอาจจะแวะตามเกาะต่างๆ เพื่อดำน้ำตื้นประมาณ 2-3 เกาะ ) แต่เรือของอุทยานไม่มีให้บริการจะเป็นเรือของบริษัทเอกชนอย่างเดียว
เรือ
จากท่าเรือทับละมุเดินทางไปยังเกาะเมี่ยง (เกาะสี่) ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และเกาะแปด (เกาะสิมิลัน) ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร มีเรือโดยสารของภาคเอกชนให้บริการทุกวันตลอดฤดูกาลท่องเที่ยว เรือโดยสารทุกลำจะออกจากท่าเรือพร้อมกันทั้งหมด โดยมีกำหนดเวลาเดินทางจากท่าเรือทับละมุไปเกาะ เวลา 08.30 น. (ขาไป) และเดินจากเกาะไปท่าเรือทับละมุ เวลา 15.00 น. (ขากลับ) ของทุกวันๆ ละ 1 เที่ยว ทั้งเวลาไปและเวลากลับ (เก็บตั๋วเรือเอาไว้แสดงตอนกลับด้วย)
ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.5 ชั่วโมง (โดยเรือสปีดโบท) แต่บางบริษัทจะนำนักท่องเที่ยวแวะดำน้ำตามเกาะ ต่างๆ ก่อน เช่น แวะดำน้ำตื้นที่เกาะเก้า ประมาณ 30 นาที รับประทานอาหารและดำน้ำตื้นที่เกาะแปด ประมาณ 1 ชั่วโมง ดำน้ำตื้นที่เกาะเจ็ด ประมาณ 30 นาที จากนั้นจึงเดินทางเข้าที่พักที่เกาะสี่ เรือจะใช้เวลาประมาณ 3 - 3.5 ชั่วโมง ถึงเกาะสี่ ประมาณ 14.00 น.
เรือโดยสารเป็นเรือสปีทโบท อัตรา (รอการอัพเดท)บาทต่อคน (สำหรับบุคคลที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และสำหรับบุคคลที่อายุไม่เกิน 2 ปี ไม่คิดเงิน ส่วนบุคคลที่มีอายุเกิน 2 ปี แต่ไม่ถึง 12 ปี คิดราคา (รอการอัพเดท) บาท) เป็นการเดินทางไป-กลับ (ไปและกลับวันไหนก็ได้) สำหรับอัตรา (รอการอัพเดท) บาทต่อคน ส่วนเด็กไม่เกิน 12 ปี คิดราคา (รอการอัพเดท) บาท เป็นการเดินทางไป-กลับ วันเดียว มีอาหาร , เครื่องดื่ม, อุปกรณ์ดำน้ำ ,ไกด์, ประกันชีวิต และพาเที่ยวรอบๆหมู่เกาะสิมิลัน เป็นการพาเที่ยวภายใน 1 วัน และสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปพักอาศัยที่เกาะ ที่เกาะจะมีเรือของทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันไว้คอยให้บริการ ดำน้ำตื้น (Snokeling) เป็นเรือดิงกี้ (เรือยาง) และเรือสปีดโบทให้บริการกับนักท่องเที่ยว ไปดำน้ำตื้นตามเกาะต่างๆ โดยจะมีอัตราค่าบริการ (รอการอัพเดท) บาท/คน/รอบ (รอบละครึ่งวัน เช้า 08.00 - 11.30 น. และบ่าย 13.00 - 16.30 น. ) รวมชูชีพ แต่ไม่รวมค่าอุปกรณ์อื่น อุทยานฯ มีอุปกรณืให้เช่า ได้แก่ หน้ากาก (เช่า 100 บาท ) ตีนกบ ( เช่า 100 บาท) หมายเหตุ : ราคาที่ยังไม่อัพเดท ต้องรอนโยบายและสถานการณ์