พังงา
แร่หมื่นล้าน บ้านกลางน้ำ ถ้ำงามตา ภูผาแปลก แมกไม้จำปูน บริบูรณ์ด้วยทรัพยากรพังงา คือ จังหวัดที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งบนบกและใต้น้ำ โดยเฉพาะกลุ่มเกาะสวยงามที่วางตัวเรียงรายอยู่ในทะเลอันดามัน จนพังงาได้รับสมญานามว่าเป็นดินแดนแห่งป่าเกาะ รวมทั้งยังมีผืนป่าชายเลนหนาแน่นและอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยพังงาเต็มไปด้วยวิถีชีวิตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องราวของผู้คนหลากเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน มุสลิม และชาวไทยใหม่ (ชาวเล) ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเก่าแก่ที่น่าสนใจ เช่น เกาะปันหยี เกาะยาว หมู่บ้านชาวมอแกนในบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ ชุมชนชาวเหมืองแร่ที่ตะกั่วป่า ฯลฯนอกจากนั้น พังงายังเต็มไปด้วยแหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เช่น โลกใต้น้ำของหมู่เกาะสิมิลัน ดงปะการังหลากหลายและฝูงปลาน้อยใหญ่ใต้ทะเลหมู่เกาะสุรินทร์ เขาตาปู เขาพิงกัน เกาะพระทอง ฯลฯทั้งหมดนี้ล้วนเป็นทรัพยากรล้ำค่าที่ทำให้พังงาเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเสมอมาจังหวัดพังงามีเนื้อที่ประมาณ 4,171 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศ คือ ฝั่งตะวันตกติดทะเลอันดามัน ส่วนบนบกนั้นส่วนใหญ่เป็นเทือกเขา พื้นที่ป่าเป็นป่าดงดิบ สภาพภูมิประเทศที่หลากหลายและสวยงามนี้เองที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มเกาะ เช่น หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทอื่น คือ หาดทรายชายทะเล ป่าดิบ ป่าชายเลน น้ำตก และโถงถ้ำพังงาเริ่มต้นความเป็นมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานที่ขุดค้นพบมีทั้งเครื่องมือหิน ภาพเขียนสีในถ้ำ อาวุธที่ทำจากกระดูกสัตว์ ภาชนะดินเผา ฯลฯ หลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่สนับสนุนว่าพังงาเป็นเมืองเก่าแก่ คือเครื่องปั้นดินเผาและกำไลหิน อายุ 3,000-4,000 ปี ที่พบในถ้ำสุวรรณคูหาในสมัยประวัติศาสตร์ พบหลักฐานว่า ชาวกลิงคราฐหลบหนีการโจมตีของพระเจ้าอโศกมหาราชอยู่ในบริเวณริมทะเลแถวเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และถลาง ครั้นถึง พ.ศ. 300 ชาวอินเดียที่หนีมาได้นำศิลปวัฒนธรรมมาด้วย โดยมีการพบรูปสลักหินพระลักษมณ์ พระราม และนางสีดา ในบริเวณเมืองเก่าของตะกั่วป่า และในหนังสือมิลินทปัญหา ชาวอินเดียเรียกตะกั่วป่าว่าตะโกลา หรือตกโกล ซึ่งแปลว่าลูกกระวาน ปัจจุบันนี้คนเฒ่าคนแก่ก็ยังเรียกบริเวณนี้ว่าเมืองตะโกลาล่วงมาจนถึงสมัยอยุธยา พังงามีฐานะเป็นเมืองแขวง ขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่า จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 1 ได้รับการยกฐานะให้เป็นเมืองเทียบเท่าเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 2 พม่ามาตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และถลาง จึงมีการย้ายผู้คนมาอยู่ที่ตำบลกราภูงา ซึ่งอยู่ตรงปากน้ำพังงา และตั้งชื่อเมืองว่าภูงา ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งต่อมาคำว่าภูงาเพี้ยนเป็นพังงาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เมืองพังงา ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการยุบเมืองตะกั่วป่าขึ้นกับเมืองพังงา หลังจากนั้น พังงาก็ได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดในสมัยรัชกาลที่ 6 ทว่าช่วงที่เมืองรุ่งเรืองอย่างที่สุดนั้นอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะกิจการเหมืองแร่ดีบุกในพังงาเจริญก้าวหน้ามากหลังจากหมดยุคเหมืองแร่ พังงาก็กลับสู่ความเงียบสงบ กระทั่งกองถ่ายภาพยนตร์เรื่องเจมส์บอนด์เลือกอ่าวพังงาเป็นฉากถ่ายทำเมื่อปี พ.ศ. 2517 ความงดงามของภูมิประเทศจึงถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก จากวันนั้นเอง พังงาก็เติบโตขึ้นในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่งดงามจังหวัดพังงาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คือ อำเภอเมืองพังงา อำเภอกะปง อำเภอเกาะยาว อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอตะกั่วป่า อำเภอทับปุด และอำเภอท้ายเหมือง