นครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราช เมืองประวัติศาสตร์ พระธาตุทองคำ ชื่นฉ่ำธรรมชาติ แร่ธาตุอุดม เครื่องถมสามกษัตริย์ มากวัดมากศิลป์ ครบสิ้นกุ้งปู
นครศรีธรรมราช เป็นเมืองที่มีอดีตอันยาวนานมีวิวัฒนาการต่อเนื่อง ซึ่งปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงถึงการดำรงอยู่ของชุมชนตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์สืบมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านความเจริญรุ่งเรืองมาหลายยุคหลายสมัย ก่อเกิดเป็นศิลปวัฒนธรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านเมือง และชาวเมืองยังสืบทอดรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน
จังหวัดนครศรีธรรมราชมีเนื้อที่ประมาณ 6,214,064 ล้านไร่ หรือ 9,942,502 ตารางกิโลเมตร เป็นอันดับที่ 16 ของประเทศ ประกอบด้วยชายหาด ป่าชายเลน ตอนกลางของพื้นที่เป็นเทือกเขาทอดตัวยาวตามแนวเหนือใต้ โดยมียอดเขาหลวงเป็นยอดสูงสุด ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าในแถบเทือกเขาทำให้เป็นแหล่งน้ำสำคัญ เกิดเป็นน้ำตกที่สวยงามมากมายกระจายไปแทบทุกอำเภอ
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองโบราณที่มีความสําคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และศาสนา นครศรีธรรมราชมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมาไม่น้อยกว่า 1,800 ปีมาแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีและหลักฐานทางเอกสารที่ปรากฏในขณะนี้ยืนยันได้ว่า นครศรีธรรมราชมีกําเนิดมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 เป็นอย่างน้อย มีการพบเครื่องหินที่มีตัวขวานยาวใหญ่ (บางคนเรียกว่าระนาดหิน) ที่อําเภอท่าศาลา ในยุคโลหะ ได้พบหลักฐานทางโบราณคดี คือ กลองมโหระทึกสําริด 2 ใบ ที่บ้านเกตุกาย ตําบลท่าเรือ อําเภอเมืองฯ และที่คลองคุดด้วน อําเภอฉวาง
คำว่า "นครศรีธรรมราช" น่าจะมาจากสร้อยพระนามของปฐมกษัตริย์ ผู้ครองนครศรีธรรมราช คือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช คํานี้แปลความได้ว่า "นครอันงามสง่าแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม" และธรรมของราชาแห่งนครนี้ก็คือธรรมแห่งพระพุทธศาสนา
พุทธศตวรรษที่ 17-19 เป็นช่วงที่นครศรีธรรมราชมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ปัจจัยสําคัญที่ก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองน่าจะเนื่องมากจากการเป็นสถานีการค้าสําคัญของคาบสมุทรไทย เป็นจุดพักถ่าย ซื้อสินค้าระหว่างตะวันออกกับตะวันตกที่ดีที่สุดในเวลานั้น ประกอบกับบริเวณหาดทรายแก้วอันเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ ความศรัทธาและความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาจึงเป็นปัจจัยชักนําให้ผู้คนจากทุกสารทิศในภาคใต้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในนครศรีธรรมราชอย่างหนาแน่น ในราว พ.ศ. 1700 เศษ ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชก็สามารถจัดการปกครองหัวเมืองรายรอบได้สําเร็จถึง 12 เมือง เรียกว่าเมืองสิบสองนักษัตร
เมืองนครศรีธรรมราช หรือนครอันเป็นสง่าแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม รุ่งเรืองอยู่ประมาณร้อยกว่าปี และเสื่อมลงเมื่อยกทัพไปตีเมืองลังกา และโจรชวาถือโอกาสเข้าปล้นเมืองถึง 3 ครั้ง ประกอบกับเกิดไข้ห่าระบาด จึงเป็นเหตุให้บ้านเมืองถูกทิ้งร้าง
จนกระทั่งสมัยอยุธยา ผู้คนเริ่มกลับมาตั้งบ้านเมืองใหม่อีกครั้ง และนครศรีธรรมราชได้กลายมาเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรอยุธยา ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงรัชกาลที่ 5 ได้มีการแก้ไขการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ใหม่ นครศรีธรรมราชได้เปลี่ยนฐานะเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 2439 จนกระทั่ง พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงได้ยุบมณฑลนครศรีธรรมราช และเปลี่ยนมาเป็นจังหวัดนครศรีธรรมราชจนถึงปัจจุบัน
จังหวัดนครศรีธรรมราชแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 23 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอปากพนัง อำเภอชะอวด อำเภอทุ่งสง อำเภอท่าศาลา อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอสิชล อำเภอลานสกา อำเภอพิปูน อำเภอหัวไทร อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอฉวาง อำเภอขนอม อำเภอนาบอน อำเภอพรหมคีรี อำเภอบางขัน อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอพระพรหม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอนบพิตำ และอำเภอช้างกลาง