จริงหรือไม่? คนส่วนใหญ่ไม่ซื้อสินค้า-บริการเพราะ"โฆษณา-ความเห็น"ในเฟซบุ๊ก
ผลการสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์/อิปซอสพบว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 4 ใน 5 ไม่เคยซื้อสินค้าหรือบริการเพราะอิทธิพลของโฆษณา หรือความเห็นในเฟซบุ๊ก เป็นสัญญาณล่าสุดว่าเฟซบุ๊กต้องพยายามอีกมากเพื่อทำให้ฐานผู้ใช้ 900 ล้านคน เป็นแหล่งสร้างรายได้จากการโฆษณา
ผลการสำรวจพบว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กร้อยละ 34 ใช้เวลากับเฟซบุ๊กน้อยกว่าเมื่อ 6 เดือนก่อน โดยเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ใช้เวลามากขึ้น
ผลการสำรวจทางออนไลน์กับชาวอเมริกัน 1,032 คน ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-4 มิถุนายน พบว่า ผู้ตอบ 2 ใน 5 เข้าเฟซบุ๊กทุกวัน ขณะที่ร้อยละ 21 ไม่มีบัญชีเฟซบุ๊ก ร้อยละ 44 ชอบเฟซบุ๊กน้อยลงตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ร้อยละ 50 ใช้เท่าเดิม ผู้ใช้เฟซบุ๊กบ่อยที่สุดส่วนใหญ่อายุ 18-34 ปี
อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจครั้งนี้ ไม่ได้สอบถามเกี่ยวกับรูปแบบของโฆษณาที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้ใช้ ขณะที่ผลการศึกษาโดย อีมาร์เก็ตเตอร์ ชี้ว่าการโฆษณาของเฟซบุ๊กเลวร้ายกว่าการโฆษณาผ่านอีเมล์ หรือการตลาดแบบไดเร็คต์เมล์ เมื่อพิจารณาในแง่การมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค
ความวิตกกังวลดังกล่าว เกิดขึ้นหลังเจเนอรัล มอเตอร์ บริษัทยานยนต์ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ และผู้โฆษณาใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ประกาศถอนโฆษณาทางเฟซบุ๊ก
ด้านเฟซบุ๊ก ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อการสำรวจความเห็นในครั้งนี้ แต่อ้างถึงกรณีศึกษาของบริษัทนูเทลลา ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายสำคัญ ที่พบว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 หลังลงโฆษณาในเฟซบุ๊ก และเครื่อข่ายร้านอาหารแอปเปิลบีส์ ที่การลงโฆษณาทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า
ผลการสำรวจนี้ตอกย้ำความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความสามารถในการสร้างรายได้ของเฟซบุ๊ก ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นลดลงแล้วร้อยละ 29 นับตั้งแต่เปิดจำหน่ายหุ้นทั่วไปแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) เมื่อเดือนก่อน ราคาปิดตลาดเมื่อวันจันทร์อยู่ที่ 26.90 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 833.90 บาท) มูลค่าตลาดของเฟซบุ๊กลดลงแล้ว 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 930,000 ล้านบาท) เหลือ 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.29 ล้านล้านบาท)