SCB EIC ชี้วิกฤติยูโรปัจจัยเสี่ยงส่งออก H2/55-แนะกู้ส่งออกสินค้าเกษตร
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(S CB EIC) ประเมินว่าการส่งออกในครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงหลักจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป โดยเฉพาะในไตรมาส 3 เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น การที่กรีซจะต้องผ่านการตรวจสอบโดยกลุ่มเจ้าหนี้ Troika (ECB, IMF, European Commission) เพื่อที่จะได้รับเงินช่วยเหลือครั้งต่อไปในเดือนสิงหาคม
นอกจากนี้ การที่ต้นทุนการกู้ยืมของสเปนและอิตาลีพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนอาจทำให้ทั้งสองประเทศต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นเหตุให้การสั่งซึ้อสินค้าเปลี่ยนแปลงและทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ดังนั้นผู้ส่งออกควรติดตามสถานการณ์ในยุโรปอย่างใกล้ชิด โดยต้องหาทางออกสำหรับสินค้าเกษตรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในปีนี้
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมิ.ย.55 พบว่าการส่งออกของไทยกลับมาหดตัวอีกครั้งจากผลของวิกฤติยุโรป สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเดือนมิถุนายนลดลง 4.2% โดยเฉพาะการส่งออกไปยุโรปที่หดตัวถึง 17.4% และญี่ปุ่นหดตัว 2.2% สอดคล้องกับการชะลอตัวลงของการส่งออกของประเทศจีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อจากต่างประเทศค่อนข้างอ่อนแอ
ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวรุนแรง โดยลดลงถึง 27.3% มูลค่าการส่งออกข้าวลดลงราว 50% ตามปริมาณการส่งออกที่หดตัวลง 62% ในขณะที่มูลค่าการส่งออกยางพาราลดลง 33% จากปัจจัยราคาเป็นหลัก นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรยังลดลง 11.1% ส่วนหนึ่งมาจากมูลค่าการส่งออกของน้ำตาลและผลไม้แปรรูปที่ลดลงถึง 25.3% และ 18.6% ตามลำดับ
ด้านการนำเข้าสินค้าทุนเริ่มชะลอตัว โดยพบว่าการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนมิ.ย.ขยายตัวเพียง 9.9% ลดลงจากเดือนพ.ค.ที่ขยายตัวถึง 40.7% ทั้งนี้ การนำเข้าเครื่องจักรจะเริ่มชะลอลงเข้าสู่ภาวะปกติเพราะกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมส่วนใหญ่กลับเข้าสู่ระดับปกติแล้ว ส่งผลให้แม้การนำเข้าเดือนมิ.ย.จะขยายตัวเพียงเล็กน้อย แต่การส่งออกที่หดตัวค่อนข้างมาก ทำให้ขาดดุลการค้าราว 546 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อนึ่ง กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนมิ.ย.55 อยู่ที่ 19.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 4.2% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 20.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 2.6% ส่วนดุลการค้าขาดดุล 546 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ