สถาบันวิจัยฯคลัง คาดปัญหายุโรปกระทบส่งออกไทย ส่งผล GDP หดตัว-ส่อยืดเยื้อ
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เผยผลการเลือกตั้งกรีซล่าสุดยังไม่ได้ทำให้ปัญหาหนี้ยุโรปมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสาระสำคัญ เพียงแต่ขณะนี้ กรีซ คงอยู่ในกลุ่มยูโรโซน ขณะที่อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าปัญหายุโรปจะยืดเยื้อไปถึงปีหน้า และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวที่กระทบต่อการส่งออก แนะรัฐบาลกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นแนวทางลดการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้
นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยฯ ประเมินผลกระทบจากปัญหาหนี้ยุโรปต่อไทยในกรณีเลวร้ายสุดจะฉุดให้ GDP ของไทยปีนี้โต 2.2% ส่วนเศรษฐกิจยุโรป ติดลบ 5% และบนสมมติฐานที่มีปัญหาบ้าง จะทำให้ GDP ของไทยในปีนี้ อยู่ที่ 5% หาก GDP ยุโรปติดลบ 1.6% จากปัจจุบันคาดว่า GDP ยุโรป โต 0.9% ส่วน GDP ไทยอยู่ที่ 5.5% ในปีนี้
"คิดว่าไทยพอจะรับได้ แต่ก็ต้องระวังตัว กระทบแน่เรื่องส่งออก เพราะไทยส่งออก 67% ของ GDP ส่วนเอเชียที่เสี่ยงมากก็มี ฮ่องอกง มาเลเซีย สิงโโปร์ เวียดนาม เกาหลีใต้ "นายคณิศ กล่าวในงาน"วิกฤตหนี้อียู ผลกระทบและทางออก"
ขณะเดียวกันที่ผลการเลือกตั้งของกรีซ พรรค New Democracy ซึ่งสนับสนุนอียูและเห็นด้วยกับมาตรการรัดเข็มขัดมีคะแนนนำ และกรีซก็ไม่ต้องออกจากยูโรโซน โดยคาดว่าหากกรีซออกจากกลุ่มยูโรโซน จะเกิดความเสียหาย 200 ล้านยูโร หรือ 6 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี มาตรการรัดเข็มขัดกับกรีซ ก็ยากเพราะการรัดเข็มขัดก็จะมีผลทางการเมืองของกรีซต่อไป
ที่ผ่านมา อียูได้ใส่เงินสนับสนุนผ่านกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) แล้ว 440 พันล้านยูโร และ กลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) 500 พันล้านยูโร และยังมี โครงการซื้อพันธบัตร (SMP) และการอัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว(LTRO) เป็นเครื่องมือ แต่ทั้งหมดแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น ส่วนเครื่องมือที่คาดว่าจะนำใช้ได้แก่ Euro Bond , Bankign Union และ ธนาคารกลางยุโรป(ECB) เข้ารับผิดชอบการแก้ปัญหาสถาบันการเงินโดยตรง ซึ่งค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะแต่ละประเทศต้องเสียอธิปไตยทางด้านการเงินการคลังไป
ทั้งนี้ ต้องมีการติดตามให้ดี เพราะต่างชาติจะเทขายหุ้นออกไปก่อน จะเกิดปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งธปท.ได้เตรียมการเรื่องนี้คงไม่มีปัญหา ขณะที่ค่าเงินบาท ที่ระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ ถือว่ามีเสถียรภาพ
ขณะที่ นายบัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) มองว่าปัญหาหนี้ยุโรปคงจะยืดเยื้อไปอีกนานถึงครึ่งปีหลังไปถึงปีหน้า ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเห็นแนวทางการแก้ไข โดยขณะนี้การเมืองของกรีซพยายามต่อรองกับอียู ที่จะไม่ต้องการมาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวดเกินไป
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปจะเป็นแรงกดดันตลาดนำไปสู่แนวทางแก้ไขสุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในการประชุมกลุ่มประเทศ G20 ในวันที่ 18-19 มิ.ย.ที่เม็กซิโกน่าจะมีมาตรการออกมาช่วยแก้ปัญหาอียู ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาอียูที่มีการรวมตัวกัน 17 ประเทศมองแล้วยังหาออพชั่นหรือโซลูชั่นได้ยาก
"ขณะนี้ผมคิดว่า ไม่ผิดที่จะพูดว่า เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ใน mode ชะลอตัว ทำให้ผลกระทบมีมาก export ก็ได้รับผลกระทบ" นายบัณฑิต กล่าว
อย่างไรก็ดี อดีตรองผู้ว่าการธปท. เห็นว่าภาคเอกชนไทยมีความสามารถปรับตัวกับเศรษฐกิจโลกดูได้จากความสามารถทำกำไรในไตรมาส 1/55 และคาดว่า ภาคธุรกิจยังความเข้มแข็งพอสมควร ทางภาครัฐก็ต้องมีนโยบายช่วยปรับตัว และให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งช่วยทำให้เอกชนเข้าถึงสินเชื่อ