ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภพ่อค้าโกงชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอำมาตย์ผู้ซึ่งวินิจฉัยคดีประจำราชสำนักในเมืองพาราณสี สมัยนั้นมีพ่อค้า ๒ คนคือพ่อค้าบ้านนอกและพ่อค้าชาวเมืองเป็นเพื่อนสนิทกัน วันหนึ่ง พ่อค้าบ้านนอกได้ฝากผาลไถเหล็กประมาณ ๕๐๐ อันไว้กับพ่อค้าชาวเมือง และบอกกับพ่อค้าชาวเมื่องว่า เมื่อถึงฤดูทำนาแล้วจะมารับคืน
พ่อค้าชาวเมืองคิดไม่ซื่อได้ขายผาลเหล็กทั้งหมดไป ส่วนเงินก็นำมาใช้แล้วเอาขี้หนูมาโรยไว้บริเวณที่เก็บผาลเหล็กนั้น เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนถึงฤดูทำนาพ่อค้าบ้านนอกก้ได้มาขอรับผาลเหล็กคืน เขาจึงพูดด้วยเสียงละห้อยว่า ” เพื่อนเอ๋ย เราเสียใจจริงๆ ผาลเหล็กของท่านถูกพวกหนูกินหมดแล้ว ทิ้งแต่ขี้หนูไว้เป็นอนุสรณ์เท่านั้น แล้วเราจะทำอย่างไรละทีนี้ นั่นเห็นไหม ” พร้อมกับชี้ให้ดูขี้หนู
พ่อค้าบ้านนอกคิดไม่ถึงว่าจะถูกเพื่อนโกงกันซึ่ง ๆ หน้าแบบนี้ จึงคิดหาวิธีแก้เผ็ดคืนได้อย่างหนึ่ง ในเย็นของวันนั้นได้อาสาพาลูกชายของพ่อค้าชาวเมืองนั้นไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ อาบน้ำเสร็จแล้วขากลับก็ได้แวะที่บ้านของเพื่อนตนคนหนึ่งพร้อมกับมอบเด็กฝากไว้กับเพื่อนคนนั้น พร้อมพูดกำชับว่า
” ท่านอย่าให้ใครเห็นเด็กคนนี้นะ ใครจะมาขอรับคืนก็อย่าให้ไปอันขาด นอกจากเราคนเดียวเท่านั้น ”
ว่าแล้วก็กลับไปบ้านพ่อค้าชาวเมืองพร้อมกับคร่ำครวญให้เขาฟังว่า
” เพื่อนเอ๋ย…เราเสียใจต่อท่านจริงๆ ลูกชายของท่านนะสิ ขณะที่เราลงเล่นน้ำในแม่น้ำ เขานั่งอยู่ริมฝั่งน้ำ ถูกเหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบเอาไปกินเสียแล้ว สุดปัญญาที่เราจะช่วยได้จริงๆละเพื่อนเอ๋ย ทีนี้จะทำอย่างไรดีละ
” พ่อค้าชาวเมืองไม่เชื่อว่าเด็กที่โตขนาดนี้แล้วจะถูกเหยี่ยวโฉบเอาไปได้ ด้วยความโกรธจึงชี้หน้าพ่อค้าบ้านนอกพร้อมกับพูดว่า
” อ้ายโจรชั่ว…เจ้าต้องติดคุกแน่นอน เราจะไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้า ”
ว่าแล้วก็ไปแจ้งความ พ่อค้าบ้านนอกก็พูดตอบว่า
” เชิญตามสบายเลยเพื่อน จะเอาอย่างนั้นก็ได้ ” แล้วก็เดินตามหลังเขาไป
ที่ศาล พ่อค้าชาวเมืองแจ้งความกับอำมาตย์โพธิสัตว์ว่า
” นายท่าน พ่อค้าคนนี้นำลูกชายของผมไปอาบน้ำที่ท่าน้ำด้วย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้าน กลับมาบอกผมว่าลูกชายผมถูกเหยี่ยวโฉบไปกินเสียแล้ว มันจะเป็นไปได้อย่างไร เด็กโตขนาดนี้แล้ว มันต้องฆ่าลูกชายผมแน่เลย ”
อำมาตย์จึงถามพ่อค้าบ้านนอกว่า
” จริงหรือไม่ ที่ท่านนำเด็กไปอาบน้ำแล้วเด็กคนนั้นถูกเหยี่ยวโฉบเอาไปนะ ”
เขาตอบว่า
” เป็นความจริงครับท่าน ”
อำมาตย์ถามว่า
” ไม่น่าเชื่อที่เหยี่ยวจะโฉบเอาเด็กที่โตขนาดนี้ไปได้ ”
เขาก็เรียนให้ทราบว่า “นายท่าน…ถ้าเหยี่ยวไม่สามารถนำเด็กที่โตขนาดนี้บินไปได้ แล้วหนูจะสามารถกินผาลเหล็กไปได้อย่างไร ”
พระโพธิสัตว์จึงถามว่า
” นี่พ่อคุณ..มันเรื่องอะไรกันแน่ ”
พ่อค้าบ้านนอกจึงเรียนให้ทราบว่า ” นายท่าน…ผมได้ฝากผาลเหล็กจำนวน ๕๐๐ อันไว้ที่บ้านพ่อค้าคนนี้ วันนี้ผมมาขอรับผลาเหล็กคืน เขาบอกว่าหนูได้กินผาลเหล็กไปหมดแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าหนูกินผาลเหล็กได้ เหยี่ยวก็สามารถนำเด็กไปได้เช่นกันละขอรับ ถ้าหนูกินผาลเหล็กไม่ได้ เหยี่ยวก็ไม่สามารถนำเด็กไปได้ละขอรับ ขอท่านจงตัดสินคดีด้วยเถิด ”
อำมาตย์โพธิสัตว์พอทราบว่าพ่อค้าคนนี้กำลังแก้ลำพ่อค้าคนโกง จึงกล่าวชมเชยเป็นคาถาว่า
” ท่านได้คิดอุบายตอบอุบายดีแล้ว ได้คิดโกงตอบผู้โกงท่านดีแล้ว
ถ้าหนูทั้งหลายพึงกินผาลได้ เหตุไฉนเหยี่ยวทั้งหลายจะเฉี่ยวเอาเด็กไปไม่ได้เล่า
บุคคลที่โกงตอบคนโกงมีอยู่มากในโลก ผู้ที่ล่อล่วงตอบคนล่อลวงก็มีอยู่เหมือนกัน
ท่านผู้มีบุตรหายจงให้ผาลแก่เขาเถิด ท่านผู้มีผาลหายก็คืนบุตรมาให้เขาเถิด ”
พ่อค้าบ้านนอกพูดว่า ” ถ้าเขาคืนผาลเหล็กแก่ผม ผมก็จะคืนลูกชายแก่เขาเหมือนกันละขอรับ ”
อำมาตย์จึงถามพ่อค้าชาวเมืองว่าจะคืนผาลเหล็กแก่เขาไหม พ่อค้าชาวเมืองยินยอมตามนั้น คนทั้งสองจึงคืนผาลเหล็กและลูกชายแก่กัน ต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไปตามยถากรรม
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
เพื่อนที่ดีย่อมซื่อสัตย์ต่อกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง