กบเขียว
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเวฬุวันเมืองราชคฤห์ ทรงปรารภพระเจ้าอชาตศัตรูผู้หลานทำสงครามกับพระเจ้าโกศลผู้ปู่ต่างพลัดกันแพ้ชนะอยู่ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกบเขียวอยู่ในแม่น้ำแห่งหนึ่ง ในสมัยนั้นชาวบ้านจะดักลอบจับปลาในแม่น้ำ ที่ในลอบหลังหนึ่งมีปลาเข้าไปติดอยู่เป็นจำนวนมาก มีงูปลาตัวหนึ่งเห็นปลาติดลอบจำนวนมากคิดจะเข้าไปกินปลา จึงเข้าไปในลอบหลังนั้น ถูกปลารุมกัดจนเลือดนองไปทั่วร่าง ดิ้นรนจนออกมาได้ แล้วนอนอยู่บนฝั่งใกล้ ๆ ลอบหลังนั้น
กบเขียวที่นอนอยู่บนหลังลอบได้เห็นเหตุการณ์นั้นโดยตลอด งูปลาเหลือบไปเห็นกบแล้วถามว่า
” ท่านกบเขียว ปลาทั้งหลายรุมกัดฉันผู้เข้าไปในลอบ เรื่องนี้ท่านว่าถูกหรือไม่ ”
กบเขียวตอบว่า ” สหาย ถูกแล้ว เพราะถ้าปลามาถิ่นท่าน ท่านก็ต้องกินปลาเป็นธรรมดา ฝ่ายปลาก็กินท่านผู้มาถิ่นของเขาเช่นกัน การอ่อนข้อให้ผู้อื่นในถิ่นหากินของตนไม่มีดอก ” แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า
” บุรุษผู้มีอิสรภาพอยู่เพียงใด ก็ย่ำยีผู้อื่นได้อยู่เพียงนั้น
คนอื่นมาย่ำยีตนคราวใด คราวนั้น ผู้ที่ถูกย่ำยีก็ย่ำยีตอบบ้าง”
ฝูงปลาเมื่อได้ฟังกบวินิจฉัยเช่นนี้ ก็กรูกันออกจากลอบกัดงูปลาจนตาย ณ ที่ตรงนั้นเอง แล้วต่างก็หนีไป
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ถิ่นใคร ถิ่นมัน อย่าใหญ่ผิดที่แล้วจะถึงความพินาศ