ธปท.ส่งซิกผ่อนปรนนโยบายการเงิน รับแรงกระแทกวิกฤติหนี้ยุโรป มั่นใจระบบสภาพคล่องไร้ปัญหา
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่าถึงแม้ขณะนี้จะเห็นธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันกันเตรียมสภาพคล่องเงินฝากจนสภาพคล่องในระบบมีการตึงตัวขึ้นบ้าง แต่ยืนยันว่าสภาพคล่องในระบบมีเพียงพอ ไม่ขาดแคลนเนื่องจากในแต่ละวันธปท.ยังต้องดูดซับสภาพคล่องอยู่วันละประมาณ 5 แสนล้านบาทจึงไม่คิดว่าดอกเบี้ยสินเชื่อของธนาคารจะปรับขึ้นในช่วงนี้
ดังนั้นในสถานการณ์เช่นนี้ทิศทางดอกเบี้ยไม่ใช่ขาขึ้นอยู่แล้ว เพราะปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งคาดว่าน่าจะทอดยาว จึงยังไม่แน่ว่าจะกระทบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด ดังนั้น ทิศทางดอกเบี้ยจากนี้ไปจึงน่าจะอยู่ในทิศทางการผ่อนปรนต่อไป ส่วนที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คงไว้ที่ 3% ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับผ่อนปรน สะท้อนจากมติกนง. 7 คน มีเสียงให้คง 5 แต่ให้ลดลง 0.25% อยู่ด้วย 2 เสียง
“ความขัดแย้งเพราะมองในทิศทางผ่อนคลายเหมือนกัน ต่างกันแค่ฝ่ายหนึ่งอยากให้ทำไว้ล่วงหน้า แต่อีกฝ่ายมองว่าสภานการณ์ข้างนอกน่าจะยืดเยื้อ บรรยากาศขมุกขมัว พายุรุนแรงจะมาแรงแค่ไหนไม่รู้ยัง จึงอยากให้ตุนกระสุนไว้ก่อนดีกว่า จังหวะเหมาะสมค่อยทำ” นายประสารกล่าว
น างผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธ ปท. กล่าวว่า ค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังยังผันผวนอยู่ต่อไป หลังจากที่ไตรมาส 1 ปีนี้ค่าความผันผวนอยู่ที่5.96% และลดลงเป็น 4.52 %ในไตรมาส 2 โดยปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาทที่สำคัญมาจากปัจจัยภายนอกคือ ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกและปัญหาหนี้สาธารณะ รวมทั้งปัญหาสถาบันการเงินในยุโรปที่ยังยืดเยื้อและยังต้องการความชัดเจนในขั้นตอนการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ที่นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของสหรัฐและยุโรป ส่งผลให้นักลงทุนย้ายการลงทุนไปในตลาดที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจดีและมีผลตอบแทนสูงกว่า ได้แก่ ตลาดเกิดใหม่เอเชีย เงินทุนไหลเข้า-ออกตามภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป ทำให้เงินบาทน่าจะผันผวนอยู่ในช่วงที่เหลือของปี ส่วนปัจจัยภายในประเทศ รายได้จากการส่งออกขึ้นอยู่กับการหาตลาดใหม่ที่ยังเติบโตได้ดี ขณะที่ความต้องการลงทุนในประเทศยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุลจะทำให้แรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าลดลง แต่ภาพรวมค่าเงินบาทยังเป็นทิศทางที่แข็งค่าอยู่