กรอ.เสนอพัฒนาอุตสาหกรรม-ระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคตะวันออก
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แถลงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ซึ่งทางภาคเอกชนได้เสนอใน 4 เรื่อง 13 ประเด็น และจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในวันพรุ่งนี้ ประกอบไปด้วย 1.ข้อเสนอมาตรการและกลไกเพื่อบูรณาการและเสริมสร้างความเข้มแข็งพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งทางภาคเอกชนได้เสนอให้มีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติตามม.67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญที่ยังเกิดความล่าช้าในเรื่อง EIA และ HIA ส่งผลให้โครงการฯยังไม่ได้รับอนุมัติ จำนวน 4 โครงการ รวมจำนวน 12000 ล้านบาท จึงได้เสนอขอให้ปรับหลักเกณฑ์กำหนดการพิจารณาให้ไม่เกินภายใน 60 วัน ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรฯจะได้รับดำเนินการต่อไป
ส่วนข้อเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือสินค้าที่ท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งทางกระทรวงคมนาคม จะรับข้อเสนอของภาคเอกชน ในการแก้ปัญหาไม่เกิน 30 วัน นอกจากนี้ ในส่วนของข้อเสนอ ในเรื่องกลไก เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการความปลอดภัย และกำกับภาวะฉุกเฉินในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งจากเหตุการณ์การระเบิดที่เกิดขึ้นที่โรงงานบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ จำกัด และก๊าซรั่วในบริษัท อติตยา เบอร์ล่า เคมิคัล (ประเทศไทย) จำกัด ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. จึงขอจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อบูรณาการการทำงานในพื้นที่ ซึ่งภาครัฐก็ยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
2.การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม และระบบโลจิสติกส์ ทางคณะกรรมการฯได้เสนอในเรื่องการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม ทางอากาศภาคตะวันออก ซึ่งทางกระทรวงคมนาคม รับไปศึกษารายละเอียดใน 3 เรื่องประกอบด้วย การเร่งรัดการใช้สนามบินนานาชาติ อู่ตะเภา ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบในการเปิดใช้สนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมระบบราง ภาคเอกชนได้เสนอให้มีการเร่งรัด โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 โดยกระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอไปประกอบการพิจารณาถึงความเหมาะสมของเส้นทางการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยจะเร่งจัดทำร่างทีโออาร์ ให้แล้วเสร็จ เพื่อจะสามารถประกวดราคาโครงการให้ได้ภายในปี 2556 รวมถึงการเร่งรัดขยายช่องจราจรทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 โดยขยายจาก 4 ช่องทางเป็น 8 ช่องทาง และการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจรทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 317 จันทบุรี-สระแก้ว โดยกรมทางหลวงวางแผนเป็น 4 ฃ่องทาง โดยทางกกร. เสนอให้เร่งให้แล้วเสร็จในปี 2557
3. การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ทางภาคเอกชนเสนอให้มีการขยายเวลาเปิดด่านชั่วคราว และถาวร และระบบการเข้าออกด่านศุลกากร ในจังหวัดจันทบุรี ตราด และสระแก้ว โดยขยาย 06.00 น.-22.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าด่านชายแดนไทยกัมพูชา โดยทางกระทรวงมหาดไทยจะรับไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนได้มีการเสนอให้แก้ไขปรับปรุงผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลัก และชุมชนจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นการปรับปรุงครั้งที่ 3 โดยทางกระทรวงอุสาหกรรม จะร่วมกับทางภาคเอกชน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อเสนอส่งให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ไขปรับปรุงผังเมืองต่อไป นอกจากนี้ยังมีโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย จ.ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ เพื่อเป็นการพัฒนาระบบโครงข่ายขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อเป็นการเชื่อมโยงพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ โดยที่ประชุมมอบให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับทางสภาพัฒน์ฯ ไปพิจารณาในรายละเอียด
4. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งทางภาคเอกชนได้เสนอให้มีการเร่งรัดการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแผนการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2558 ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งมี 7 โครงการ และในขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 โครงการ แต่ยังติดขัดในบางโครงการที่ยังล่าช้า เช่น โครงการในเรื่องการดูแลเมืองพัทยา ให้มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะใช้ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาว่าอาจจะมีการนำในบางโครงการที่ยังล่าช้าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัย หรือกบอ. และภาคเอกชนได้เสนอจัดสร้างอาคารศูนย์บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก โดยที่ประชุมมอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานกับกบอ. เพื่อบูรณาการการจัดทำฐานข้อมูลร่วม และสามารถเชื่อมโยงไปยังส่วนกลาง พร้อมทั้งให้พิจารณาสถานที่ที่ให้จัดตั้งวอร์รูมด้วย