Modern Trade ในฮ่องกง
ฮ่องกงถูกจัดให้เป็นเมืองอันดับหนึ่งของโลกด้านการเป็นเมืองเสรีทางเศรษฐกิจ (the world freest economy) เป็นระยะเวลา 18 ปีต่อเนื่อง เนื่องจากมีปัจจัยที่เอื้อต่อการจัดตั้งและดำเนินธุรกิจ อาทิ มีกฎหมาย กฎระเบียบ ระบบภาษี ระบบเคลื่อนย้ายเงินทุน และสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่ดี แต่เมื่อพิจารณาถึงธุรกิจค้าปลีกในฮ่องกง พบว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ Modern Trade ที่มีขนาดร้านค้าใหญ่ๆ แทรกตัวเข้าไปในชุมชนน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศเอเชียอื่นๆ เช่น จีนแผ่นดินใหญ่ ไทย เวียดนาม
จากการสอบถาม หน่วยงาน InvestHK ว่ามีข้อจำกัดอะไรหรือไม่ในการควบคุมธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ เพื่อคุ้มครองธุรกิจค้าปลีกรายย่อยๆ ประเภท SMEs ของฮ่องกงให้อยู่รอด (ร้อยละ 98 ของธุรกิจในฮ่องกง เป็น SMEs ประมาณ 280,000 ราย : Dr. Cliff Chan. Chairman of the Chamber’s SMEs Committee) ได้รับคำตอบว่า ไม่มี แถมได้การประชาสัมพันธ์มาอีกเพียบถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของการเข้ามาประกอบธุรกิจในฮ่องกง อาทิ ไม่มีภาษีขาย ภาษีกำไรที่เก็บก็ไม่สูง เพียง 16.5% แม้มีประชากรเพียง 7 ล้านคน แต่มีกำลังซื้อมาก และมีนักท่องเที่ยวกว่า 36 ล้านคนต่อปี ปริมาณค้าปลีกแต่ละปีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปี 2553 มูลค่า 3.24 แสนล้านเหรียญฮ่องกง
ดังนั้น จะเห็นว่ากฎหมาย กฎระเบียบในการควบคุมการเติบโตของ Modern Trade ขนาดใหญ่ในฮ่องกงไม่มี และเมื่อสำรวจร้านค้าปลีกในฮ่องกง จะพบว่า สามารถแบ่งได้ เป็น 3 ประเภท
1. ร้านค้าปลีกในตลาดสด (Wet Market) ที่มีกระจายอยู่ตามชุมชนเล็กใหญ่ทั่วไป
2. ร้านค้าปลีกดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาส่วนใหญ่จะไม่มีสาขา
3. ร้านค้าปลีกที่มีแบรนด์และมีหลายสาขา อาทิ wellcome, Park N Shop, Taste, Market Place, International, City Super, Great Food Hall, Jusco
โดยร้านค้าเหล่านี้ จะมีขนาดไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับไทย อาจมีใหญ่ขึ้นถ้าอยู่ในแหล่งชุมชนนอกเมืองที่ไม่ใช่ย่านการค้าสำหรับสถิติจำนวนครัวเรือนในฮ่องกงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราการเพิ่มน้อยมาก(ร้อยละ 0.19 ในปี 2011) โดยอยู่ที่ 2,363,900 ครัวเรือน จำนวนเฉลี่ย 2.9 คนต่อครัวเรือน จะเห็นว่าครอบครัวฮ่องกงเป็นครอบครัวเล็ก จำนวนครัวเรือนที่มีอยู่ก็ขยายตัวน้อยมาก ดังนั้นหากธุรกิจใหญ่จะมาลงทุนนอกจากจะต้องแข่งขันกับธุรกิจเดิมในพื้นที่แล้ว ส่วนต่างกำไรอาจไม่คุ้มเมื่อนำค่าเช่าร้านมาคิดคำนวณด้วย เนื่องจากค่าเช่าพื้นที่ทำธุรกิจในฮ่องกงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี อัตราเฉลี่ยค่าเช่าร้านค้าฮ่องกงตามสถิติ อยู่ที่ 1,200 เหรียญฮ่องกงต่อตรม.ต่อเดือน
ส่วนการสนับสนุน SMEs ของรัฐบาลฮ่องกง ได้มีการจัดสรรงบประมาณจำนวน 1 พันล้านเหรียญฮ่องกง สำหรับส่งเสริม SMEs ในการดำเนินธุรกิจ พัฒนาการสร้างแบรนด์สินค้า พัฒนาเทคโนโลยี การบริหารจัดการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะสนับสนุนไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ และไม่เกิน 300,000 เหรียญฮ่องกงต่อราย นอกจากนี้ยังมีการอำนวยความสะดวกในการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนให้กับ SMEs เป็นต้น
จากข้อมูลข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมธุรกิจ Modern Trade ขนาดใหญ่จึงไม่เติบโตเหมือนที่อื่นๆ