ประโยคความรวม
ประโยคความรวม คือ ประโยคที่รวมเอาโครงสร้างประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไปเข้าไว้ในประโยคเดียวกัน โดยมีคำเชื่อมหรือสันธานทำหน้าที่เชื่อมประโยคเหล่านั้นเข้าด้วยกัน ประโยคความรวมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อเนกกรรถประโยค ประโยคความรวมแบ่งใจความออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1、 ประโยคที่มีความคล้อยตามกัน ประโยคความรวมชนิดนี้ประกอบด้วยประโยคเล็กตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไป มีเนื้อความคล้อยตามกันในแง่ของความเป็นอยู่ เวลา และการกระทำ
ตัวอย่าง
• ทรัพย์ และ สินเป็นลูกชายของพ่อค้าร้านสรรพพาณิชย์
• ทั้ง ทรัพย์ และ สินเป็นนักเรียนโรงเรียนอาทรพิทยาคม
• ทรัพย์เรียนจบโรงเรียนมัธยม แล้ว ก็ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา
• พอ สินเรียนจบโรงเรียนมัธยม แล้ว ก็ มาช่วยพ่อค้าขาย
สันธานที่ใช้ใน 4 ประโยค ได้แก่ และ, ทั้ง – และ, แล้วก็, พอ – แล้วก็
หมายเหตุ : คำ “แล้ว” เป็นคำช่วยกริยา มิใช่สันธานโดยตรง
2、 ประโยคที่มีความขัดแย้งกัน ประโยคความรวมชนิดนี้ ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยค มีเนื้อความที่แย้งกันหรือแตกต่างกันในการกระทำ หรือผลที่เกิดขึ้น
ตัวอย่าง
• พี่ตีฆ้อง แต่ น้องตีตะโพน
• ฉันเตือนเขาแล้ว แต่ เขาไม่เชื่อ
3、ประโยคที่มีความให้เลือก ประโยคความรวมชนิดนี้ ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยคและกำหนดให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ตัวอย่าง
• ไปบอกนายกิจ หรือ นายก้องให้มานี่คนหนึ่ง
• คุณชอบดนตรีไทย หรือ ดนตรีสากล
4、ประโยคที่มีความเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ประโยคความรวมชนิดนี้ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยค ประโยคแรกเป็นเหตุประโยคหลังเป็นผล
ตัวอย่าง
• เขามีความเพียรมาก เพราะฉะนั้น เขา จึง ประสบความสำเร็จ
• คุณสุดาไม่อิจฉาใคร เธอ จึง มีความสุขเสมอ