ลักษณะคำประสม
คำประสมที่สร้างมีลักษณะต่างๆ ตามการใช้ แยกได้เป็น ที่ใช้
เป็นคำนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์
คำประสมที่ใช้เป็นคำนาม ส่วนมากคำตัวตั้งเป็นคำนาม ที่เป็นคำอื่นก็มีบ้าง
คำประสมประเภทนี้ใช้เป็นชื่อสิ่งต่างๆ ที่มีความหมายจำกัดจำเพาะ
พอเอ่ยชื่อขึ้นย่อมเป็นที่รับรู้ว่าเป็นชื่อของอะไรหากคำนั้นเป็นที่ยอมรับใช้กันทั่วไปแล้ว
1. คำตัวตั้งเป็นนามและคำขยายเป็นวิเศษณ์ ได้แก่
มด+แดง คือ มดชนิดหนึ่งตัวสีแดง ไม่ใช่มดตัวสีแดงทั่วๆ ไป อาจ
เติมต่อเป็น มด+แดง+ไฟ ก็ได้ เป็นการบอกประเภทย่อยของ มดแดง ลงไปอีกทีหนึ่ง
รถ+เร็ว คือรถไฟที่เร็วกว่าธรรมดาเพราะไม่ได้หยุดแวะทุกสถานี
น้ำ+แข็ง คือ น้ำชนิดหนึ่งที่แข็งเป็นก้อนด้วยความเย็นจัดตามธรรมชาติ หรือทำขึ้น
ที่เราใช้อยู่ทุกวันหมายถึงน้ำที่แข็งเป็นก้อนด้วยกรรมวิธีอย่างหนึ่ง
คำประสมลักษณะนี้มุ่งบอกลักษณะของสิ่งนั้นๆ ยิ่งกว่าอื่น จึงใช้คำขยายเป็นคำวิเศษณ์
2. คำตัวตั้งเป็นคำนาม คำขยายเป็นกริยา บางทีมีกรรมมารับด้วย ได้แก่
ผ้า+ไหว้ คือ ผ้าสำหรับไหว้ที่ฝ่ายชายนำไปให้แก่ญาติผู้ใหญ่ฝ่าย
หญิง เพื่อแสดงความเคารพในเวลาแต่งงาน
ไม้+เท้า คือ ไม้สำหรับเท้าเพื่อยันตัว
โต๊ะ+กิน+ข้าว คือ โต๊ะสำหรับกินข้าว
3. คำตัวตั้งเป็นคำนาม คำขยายเป็นคำนามด้วยกันได้แก่
เรือน+ต้น+ไม้ คือ เรือนที่ไว้ต้นไม้ไม่ให้โดนแดดมาก
เก้าอี้+ดนตรี คือ การเล่นชิงเก้าอี้มีดนตรีประกอบเป็นสัญญาณ
คน+ไข้ คือ คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย อยู่ในความดูแลของแพทย์พยาบาล
แกง+ไก่ คือ แกงเผ็ดที่ใส่ไก่ ไม่ใช่แกงที่ใส่ไก่ทั่วๆ ไป
4. คำตัวตั้งเป็นคำนาม คำขยายเป็นบุรพบท ได้แก่
คน+กลาง คือ คนที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใด คนที่ติดต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
คน+ใน คือ คนในครอบครัว ในวงการ คนสนิท
เครื่อง+ใน คือ อวัยวะภายในของสัตว์ ซึ่งมักใช้เป็นอาหาร ได้แก่
ตับ ไต ไส้ ของหมู วัว ควาย เป็นต้น
ฝ่าย+ใน คือ หญิงที่สังกัดอยู่ในพระราชฐานชั้นใน เป็นเจ้านายและ ข้าราชการ
ความ+ใน คือ เรื่องส่วนตัวซึ่งรู้กันในระหว่างคนสนิทกัน 2-3 คน
คน+นอก คือ คนนอกครอบครัว นอกวงการ
ของ+นอก คือ ของไม่แท้ มักใช้หมายถึงทองวิทยาศาสตร์ที่เรียกทองนอก
เมือง+นอก คือ ต่างกระเทศ มักหมายถึงยุโรป อเมริกา
นักเรียน+นอกก็มักหมายถึงนักเรียนที่เรียนในถิ่นทั้งสองนั้น
ฝ่าย+หน้า คือ เจ้านายและข้าราชการที่ไม่ใช่ฝ่ายใน
ความ+หลัง คือ เรื่องที่ผ่านมาแล้วของแต่ละคน
เบี้ยล่าง คือ อยู่ใต้อำนาจ
เบี้ย+บน คือ มีอำนาจเหนือ
คำประสมลักษณะนี้ย่อมมีความหมายทั้งหมดลงในคำคำเดียว
5. คำตัวตั้งที่ไม่ใช่คำนาม และคำขยายก็ไม่จำกัด
อาจเป็นเพราะพูดไม่เต็มความ คำนามที่เป็นคำตัวตั้งจึงหายไป กลาย
เป็นคำกริยาบ้าง คำวิเศษณ์บ้าง เป็นตัวตั้ง ได้แก่
ต้ม+ยำ ต้ม+ส้ม ต้ม+ข่า เป็นชื่อแกงแต่ละอย่าง มีลักษณะต่างๆ กัน เดิม น่าจะ
มีคำ แกง อยู่ด้วย เพราะขณะนี้ยังมีอีกมาก ที่พูด
แกงต้มยำ แกงต้มส้ม แกง(ไก่)ต้มข่า
เรียง+เบอร์ คือ ใบตรวจเลขสลากกินแบ่งของรัฐบาลที่มีเบอร์เรียงๆ
กันไป เดิมคงจะมีคำ ใบ อยู่ด้วย
พิมพ+์ดีด คือ เครื่องพิมพ์ดีด คำ เครื่อง หายไป แต่ที่ยังใช้เครื่อง ด้วยก็มี
สาม+ล้อ คือ รถสามล้อ คำ รถจะหายไปในภายหลังเช่นเดียวกัน
สาม+เกลอ (เครื่องยกตอกกระทุ้งลง มีที่ถือสำหรับยกสามที่)
สาม+ง่าม (ไม้หรือเหล็กที่แยกเป็นสามง่าม อาวุธที่มีปลายแหลมเป็นสามแฉก) ฯลฯ