กลุ่มพยัญชนะ
แต่ละพยางค์ในคำหนึ่ง ๆ ของภาษาไทยแยกออกจากกันอย่างชัดเจน (ไม่เหมือนภาษาอังกฤษที่พยัญชนะสะกดอาจกลายเป็นพยัญชนะต้นในพยางค์ถัดไป หรือในทางกลับกัน) ดังนั้นพยัญชนะหลายตัวของพยางค์ที่อยู่ติดกันจะไม่รวมกันเป็นกลุ่มพยัญชนะเลย
ภาษาไทยมีกลุ่มพยัญชนะเพียงไม่กี่กลุ่ม ประมวลคำศัพท์ภาษาไทยดั้งเดิมระบุว่ามีกลุ่มพยัญชนะ (ที่ออกเสียงรวมกันโดยไม่มีสระอะ) เพียง 11 แบบเท่านั้น เรียกว่า พยัญชนะควบกล้ำ หรือ อักษรควบกล้ำ
- /kr/ (กร), /kl/ (กล), /kw/ (กว)
- /kʰr/ (ขร,คร), /kʰl/ (ขล,คล), /kʰw/ (ขว,คว)
- /pr/ (ปร), /pl/ (ปล)
- /pʰr/ (พร), /pʰl/ (ผล,พล)
- /tr/ (ตร)
พยัญชนะควบกล้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยจากคำยืมภาษาต่างประเทศ อาทิ อินทรา จากภาษาสันสกฤต พบว่าใช้ /tʰr/ (ทร),ฟรี จากภาษาอังกฤษ พบว่าใช้ /fr/ (ฟร) เป็นต้น เราสามารถสังเกตได้ว่า กลุ่มพยัญชนะเหล่านี้ถูกใช้เป็นพยัญชนะต้นเท่านั้น ซึ่งมีเสียงพยัญชนะตัวที่สองเป็น ร ล หรือ ว และกลุ่มพยัญชนะจะมีเสียงไม่เกินสองเสียงในคราวเดียว การผันวรรณยุกต์ของคำขึ้นอยู่กับไตรยางศ์ของพยัญชนะตัวแรก