ชื่อ:ศาลพระภูมิ
ภาค :ภาคเหนือ
จังหวัด :กำแพงเพชร
ลักษณะความเชื่อ
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวิญญาณ
ความสำคัญ
เจ้าของบ้านเชื่อว่าในบริเวณบ้านของตนมีวิญญาณของเทพซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า พระภูมิอาศัยอยู่ หากได้จัดหาที่อยู่ที่เหมาะสมให้ และให้ความเคารพนับถือ บวงสรวงบูชาเป็นประจำแล้ว จะทำให้เจ้าของบ้านและคนในครอบครัวมีความสุข ปลอดภัยและมีความเจริญรุ่งเรือง
พิธีกรรม
ในเบื้องต้น เจ้าของบ้านต้องจัดหาที่อยู่อาศัยของพระภูมิ ที่เรียกกันทั่วไปว่า ศาลพระภูมิ มีลักษณะเป็นเรือนหรือปราสาทเล็กๆ วางอยู่บนเสาต้นเดียวและส่วนประกอบ คือ เจว็ด ตุ๊กตาชายหญิง ช้าง ม้ากระถางธูป เชิงเทียน แจกันดอกไม้ เป็นต้น ส่วนการกำหนดวัน เวลาฤกษ์ยาม ตำแหน่งที่ตั้งศาลพระภูมิซึ่งจะต้องอยู่ภายในรั้วหรือบริเวณบ้าน การทำพิธีตั้งศาลและเชิญพระภูมิขึ้นประทับบนศาลต้องให้หมอเจ้าพิธีเป็นผู้ดำเนินการ
ในวันทำพิธีเจ้าของบ้านต้องจัดหาเครื่องสังเวย มี อาหารคาวเช่น หัวหมู ไก่ เป็ด เป็นต้น อาหารหวานเช่น ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว เป็นต้น ผลไม้ เช่น กล้วยน้ำว้าสุก และ มะพร้าวอ่อน นอกจากนี้ยังมีเครื่องบูชาเช่น บายศรีปากชาม พวงมาลัย ดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าแพร ๓ สี ด้ายสายสิญจน์ ขันน้ำมนต์ พานครูของหมอเจ้าพิธี เป็นต้น
เมื่อทุกอย่างพร้อม หมอเจ้าพิธีจะทำพิธีตามลำดับ เริ่มจากหมอเจ้าพิธีซึ่งนุ่งห่มชุดขาวอย่างพราหมณ์ทำพิธีบูชาครู ทำน้ำมนต์พรมที่หลุมสำหรับวางฐานเสาศาล วางสิ่งของมงคลที่ก้นหลุม เช่น เหรียญเงินใบเงิน ใบทอง ใบมะยม ดอกพุทธรักษา เป็นต้น ยกเสาตั้งในหลุม ตั้งเครื่องสังเวยตรงหน้าศาล พรมน้ำมนต์เครื่องสังเวย เชิญเทพ เจิมแป้งที่ศาล เจิมเจว็ดและบริวาร ปิดทองคำเปลวที่เจว็ดและตัวศาลผูกสายสิญจน์โยงตัวศาลกับเครื่องสังเวย จุดธูปปักที่เครื่องสังเวยทุกอย่าง หมอเจ้าพิธีกล่าวนำถวายและเซ่นเครื่องสังเวยลาเครื่องสังเวย เชิญพระภูมิขึ้นศาล ลาเครื่องสังเวยอีกครั้ง ตักเครื่องสังเวยทุกชนิดใส่ในกระทงใบตองเล็ก ๆ๔ ใบ วางไว้ที่มุมศาลทั้ง ๔ มุม ปลดสายสิญจน์ ยกเครื่องสังเวยออก เป็นเสร็จพิธี