ชื่อ:พระภูมิ
ภาค :ภาคกลาง
จังหวัด :กรุงเทพมหานคร
ความเป็นมา
ท้าวทศราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองพาลี หรือ พาราณสี หรือ ภาศี มีพระมเหสีชื่อ นางสันทาทุกขเทวี มีพระราชโอรส ๙ องค์ ทรงพระปรีชาสามารถเฉลียวฉลาดรอบรู้เหตุการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เมื่อพระราชโอรสเติบใหญ่ ท้าวทศราชจึงทรงมอบหมายให้ไปปกครองท้องที่ต่างๆ ตามความรู้ความสามารถทั้ง ๙ องค์
พระราชโอรสองค์ที่ ๑ ชื่อ พระชัยมงคล ดูแลเคหสถานบ้านเรือน ร้านค้า
พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ชื่อ พระนครราช ดูแลป้อมค่าย ประตูวังและหอรบ
พระราชโอรสองค์ที่ ๓ ชื่อ พระเทเพล หรือ พระเทวเถร ดูแลคอกสัตว์ ช้าง ม้า โค กระบือ ฯลฯ
พระราชโอรสองค์ที่ ๔ ชื่อ พระชัยสพ ดูแลยุ้งฉาง และเสบียงคลัง
พระราชโอรสองค์ที่ ๕ ชื่อ พระคนธรรพ์ ดูแลโรงพิธีมงคล เรือนหอ
พระราชโอรสองค์ที่ ๖ ชื่อ พระธรรมโหรา ดูแลทุ่ง นา ป่า เขา
พระราชโอรสองค์ที่ ๗ ชื่อ พระวัยทัต ดูแลวัด อาราม และปูชนียสถาน
พระราชโอรสองค์ที่ ๘ ชื่อ พระธรรมมิกราช ดูแลอุทยานและพืชพันธุ์
พระราชโอรสองค์ที่ ๙ ชื่อ พระทาษธารา ดูแลแม่น้ำ ห้วยหนอง คลองบึง
ลักษณะความเชื่อ
ช่างไทยเชื่อว่าพระภูมิเป็นเจ้าของพื้นที่ต่าง ๆ ในโลกนี้และมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย ณ สถานที่ต่าง ๆ ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป
คำบูชาและคำถวายสังเวยพระภูมิ
ภุมมัสมิง ทิสาภาเค สันติ ภุมมา มหิทธิกา เตปิอัมเห อนุรักขันตุ อโรคเยน สุเขนจ สูปพยัญชน สัมปันนัง ปริภุญชันตุ ชัยมงคลเทวา สัพพโทสัง ขมันตุเม
การตั้งศาลพระภูมิ
๑.ห้ามมิให้เงาศาลทับบ้าน หรือ เงาบ้านทับศาล
๒.บ้านขุนนางผู้ใหญ่ หันหน้าศาลพระภูมิไปทิศอุดร
๓.บ้านคหบดี พ่อค้า หันหน้าศาลพระภูมิไปทิศทักษิณ
๔.พระภูมิ ไร่ นา สวน หันหน้าไปทิศปัจจิม
๕.พระภูมิวัด หันหน้าไปทิศตะวันออก
เครื่องประดับศาลพระภูมิ
แจกัน ๑ คู่ เชิงเทียน ๑ คู่ กระถางธูป เจว็ด ม่านประดับศาล ตุ๊กตาชายหญิง ช้าง ม้า ละคร และผ้าสีสำหรับผู้ศาล ดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น
เครื่องสังเวยพระภูมิ
บายศรีปากชามยอดไข่ หัวหมู ไก่ เป็ด ปลานึ่ง ปู กุ้ง เหล้า น้ำชา ขนมถ้วยฟู ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ขนมคันหลาว ขนมหูช้าง ขนุน ข้าว ผลไม้ กล้วย น้ำจิ้ม หมากพลู บุหรี่ ถั่วงา มะพร้าวอ่อน เป็นต้น
ลาเครื่องสังเวย
สะสะ เสสัง มังคะลัง ภูมิเทวานัง ยาจามิ